น้ำมันเครื่อง มีกี่แบบและแต่ละแบบต้องเปลี่ยนตอนกี่กิโลเมตร

น้ำมันเครื่อง มีส่วนความสำคัญอย่างมากในการบำรุงรักษาเครื่องยนต์ มีหน้าที่ในการหล่อลื่นและปกป้องเครื่องยนต์ อีกทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและยืดอายุการใช้งานของเครื่องยนต์

 

น้ำมันเครื่อง โดยทั่วไปสามารถแบ่งประเภทน้ำมันเครื่องได้ 3 แบบ ได้แก่

• น้ำมันเครื่องธรรมดา (MineralOil) เป็นน้ำมันจากการกลั่นจากน้ำมันดิบ หรือ น้ำมันที่มาจากธรรมชาติ 100% ใช้ได้ประมาณ 5,000-7,000 กม.
• น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi Synthetic) เป็นการใช้น้ำมันเครื่องสังเคราะห์แท้ผสมกับน้ำมันจากธรรมชาติ เพื่อให้น้ำมันเครื่องนั้นมีคุณสมบัติที่ดีขึ้นกว่าน้ำมันธรรมดาทั่วไป ซึ่งมีราคาถูกกว่าน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ อัตราส่วนผสมนั้นขึ้นอยู่กับผู้ผลิต ใช้ได้ประมาณ 7,000-10,000 กม.
• น้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Full Synthetic) เป็นน้ำมันที่ผ่านกระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยี การคิดค้นและการวิจัย ทำให้ได้น้ำมันเครื่องที่ดีที่สุด ซึ่งผ่านขั้นตอนและกระบวนการกลั่นจนมีความบริสุทธิ์และมีคุณภาพสูงในการปกป้องและหล่อลื่นเครื่องยนต์ มีการระเหยต่ำ ทำให้เครื่องยนต์ทำงานด้วยสมรรถนะสูง ใช้ได้ประมาณ 10,000-15,000

เบอร์ความหนืดของน้ำมันเครื่อง
ค่า SAE หรือ Society of Automotive Engineers : มาตรฐานน้ำมันเครื่องของสมาคมวิศวกรรมยานยานต์ แสดงถึงค่าความหนืด (ความข้นใส) ของน้ำมันเครื่อง โดยแสดงรายละเอียดทั้งที่อุณหภูมิสูงและต่ำ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

– น้ำมันเครื่องเกรดเดี่ยว (monograde) หมายถึง น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืดค่าเดียว เช่น SAE 40 หรือ SAE 10W เป็นต้น
– โดยตัวอักษร “W” บ่งบอก ชุดตัวเลขค่าความหนืดเกรดฤดูหนาว (Winter) หรือค่าความหนืดที่อุณหภูมิต่ำ ทดสอบความหนืดในการสตาร์ทเครื่องยนต์ขณะเย็น และความสามารถในการสูบฉีดน้ำมันเครื่องผ่านปั๊มที่อุณหภูมิต่ำ หากน้ำมันเครื่องมีค่าความหนืดน้อย จะสามารถไหลไปหล่อลื่นส่วนต่างๆ ได้ง่ายและเร็วขึ้น
– ส่วนชุดตัวเลขที่ไม่มี W หมายถึง ค่าความหนืดเกรดฤดูร้อน หรือค่าความหนืดที่อุณหภูมิสูง ณ อุณหภูมิการทำงานจริงของเครื่องยนต์ วัดที่ 100°c ค่ายิ่งมาก แสดงถึงความหนืดมาก

– น้ำมันเครื่องเกรดรวม (multigrade) หมายถึง น้ำมันเครื่องที่มีค่าความหนืด 2 ค่า เช่น 15W-40 โดยค่าความหนืดจะครอบคลุมช่วงอุณหภูมิการทำงาน ตั้งแต่อุณหภูมิต่ำ จนถึงอุณหภูมิสูง ซึ่งปัจจุบันในท้องตลาดมักจะระบุเป็น น้ำมันเครื่องเกรดรวม เช่น 5W-30, 10W-40, 15W-40 เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยการเลือกค่าความหนืดของน้ำมันเครื่อง เราเน้นที่ชุดตัวเลขหลังเป็นสำคัญ ด้วยสภาพอากาศที่ไม่หนาวถึงขั้นติดลบ โดยอ้างอิงเบอร์ความหนืดที่แนะนำจากเอกสารคู่มือรถเป็นหลัก