รถยนต์ไฟฟ้า (EV) กับ 7 สาเหตุ ที่ประเทศไทยไม่พร้อม

การออกจากยุค ฟอสซิล มันต้องเกิดขึ้นไม่วันใดก็วันหนึ่ง โดยในเรื่องของ พลังงานไฟฟ้า ที่จะถูกนำมาใช้ในยานยนต์ในอนาคตซึ่งเราพูด และปฏิบัติกันมาหลายปีแล้ว และเคยสงสัยกันไหมว่า ทำไม รถยนต์ไฟฟ้า ในประเทศไทย ถึงยังไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นเป็นเรื่องเป็นราว ทั้งที่ผ่านมาหลายปีแล้วก็ตาม

ทุกวันนี้เรารู้จัก เทสล่า รู้จัก นิสสัน ลีฟ รู้จักว่า รถยนต์ไฟฟ้า มีกี่ประเภท ทั้งที่ใช้ไฟฟ้าเพียวๆ หรือใช้ไฟฟ้าร่วมกับ เชื้อเพลิงฟอสซิล (น้ำมัน) แต่ทำไมประเทศไทยถึงยังตั้งไข่ในเรื่องรถยนต์ไฟฟ้ากันไม่ได้มากเท่าใดนัก เราลองไปเช็กดูว่า มีตัวการใดบ้างที่คอยขจัดพลังงานไฟฟ้าในยานยนต์เมืองไทย ให้เกิดได้ช้า

electric_car_problem_02

ความไม่พร้อมของ รถยนต์ไฟฟ้า ในเมืองไทย

1. ภาษี : กว่าเท่าตัวของ ต้นทุนรถยนต์หนึ่งคันเมื่อบวกกำไร จะเป็นในเรื่องของภาษี แม้ว่ารถยนต์ไฟฟ้า จะมีการปล่อยก๊าซพิษเป็น ศูนย์ หรือปล่อยน้อยกว่ารถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (แล้วแต่ประเภทของรถยนต์ไฟฟ้า) ทำให้ฐานภาษีลดลงแล้วก็ตาม แต่ความ “ดูเหมือน” ที่รถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าตัวที่พอเอื้อมถึงได้ จากภาษีมลพิษ กลับต้องไปเจอการรีดภาษีจากแบตเตอรี่ มันเลยทำให้ราคาพุ่งพรวดขึ้นไปอีก

2. แบตเตอรี่ : ว่ากันที่รถ BEV (Battery Electric Vehicle) หลายคนมองว่า ระยะทาง ที่สามารถวิ่งได้ เมื่อชาร์จแบตเตอรี่เต็ม ยังสั้นอยู่มาก เมื่อเทียบกับรถที่ใช้น้ำมัน หรือลูกผสมอย่าง Hybrid เพราะฉะนั้น เรื่องระยะทาง จึงยังถูกจำกัดอยู่ในวงเล็กๆ ที่มีการใช้งานในเมืองเป็นหลัก นี่ยังไม่นับราคาค่าเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ต้องใช้เงินจำนวนสูงพอสมควรด้วยนะ

3. ระบบนิเวศน์ : ใช้ศัพท์วิชาการไปหน่อย ซึ่งมันก็ สถานีประจุไฟฟ้า นั่นเอง การสร้างระบบนิเวศน์ หรือ สถานีประจุไฟฟ้า เป็นสิ่งแรกที่นักวิชาการมองว่า ง่ายที่สุดที่จะช่วยให้รถยนต์ไฟฟ้าเกิดขึ้นในเมืองไทยได้จริง ในเวลาอันใกล้ เพราะถ้ามีที่ อัดประจุไฟฟ้า แบบหาง่ายพอกับ ปั๊มแก๊ส (ไม่ต้องถึงขนาดปั๊มน้ำมัน) จะเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคเลือกใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้ง่ายขึ้น แต่มันติดตรงที่ว่า จะมีใครมีเงินลงทุนมากมายขนาดนั้น แม้ กฟน เพิ่งประกาศสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าครบ 1,000 แห่งในกทม.และปริมณฑลให้ได้ในปีนี้ก็ตาม

4. ภาครัฐไม่ชัดเจน : แม้ระดับนายก และรมต.จะเคยประกาศด้วยวาจาว่าจะสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าในเมืองไทยให้เกิดให้ได้ แต่ผ่านมาจนจะครบอายุรัฐบาล ก็ยังไม่มีนโยบายอันใดที่ชัดเจน พอจะให้เอกชนเกิดการลงทุนส่วนประกอบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า ฉะนั้นร้องเพลงรอกันต่อไป

5. ราคาขายต่อต่ำ : คนไทยจำนวนมาก คำนึงถึงเรื่องราคาขายต่อของรถยนต์กันแทบจะทั้งนั้น เพราะหลายคนมองว่า การซื้อรถหนึ่งคัน ก็เหมือนเป็นการลงทุน เกิดวันดีคืนดีใช้ไปไม่ถึงเดือนถึงปี ราคาของรถยนต์หลักล้านมันจะหายไปอยู่จุดไหน เพราะมันประเมินเหมือนรถมือสองที่ใช้น้ำมันกันไม่ได้

6. ไม่มั่นใจในรถ : บ้านเรามีรถเครื่องยนต์ลูกผสมให้ได้เรียนรู้กันมาหลายปี จนทุกวันนี้รถยนต์ลูกผสมแบบเสียบปลั๊กจากค่ายยุโรป ได้รับความนิยมไม่น้อยทีเดียว แต่ยังมีอีกมากที่แม้จะมีกำลังซื้อ แต่ด้วยความที่เติบโตมาในยุคฟอสซิล คุ้นชิน และมีพื้นฐานพอจะเข้าใจระบบของรถยนต์ใช้น้ำมัน การจะให้เปลี่ยนแปลงอะไรแบบนี้ มันไม่ง่ายเลยจริงๆ

7. ความพยายามยื้อของค่ายรถ : คู่แข่งบนเวทียานยนต์นั้นมีมากมาย ทุกค่ายรู้ดีว่า วันใดวันหนึ่งต้องมาถึง แต่ถ้าวันนี้ยังไม่พร้อมรบ ก็ต้องใช้กำลังภายใน สกัดกั้นไม่ให้คู่แข่งใส่นวมพร้อมชึ้นเวทีชก จะผ่านทางอำนาจรัฐ หรืออะไรก็ตามแต่ แม้เรื่องที่ว่านี้จะไม่สามารถพิสูจน์ออกมาได้ แต่เชื่อเหอะว่ามีอยู่จริง

electric_car_problem_04

นี่คือค่าใช้จ่ายอัดประจุไฟฟ้า ที่มีติดตั้งบ้างแล้วในไทย

ยังไงเราหลีกเลี่ยงการเปลี่ยนผ่านนี้ไม่ได้แน่นอน อยู่ที่การเปลี่ยนผ่านครั้งนี้ จะใช้เวลานานแค่ไหน เป็นเรื่องที่เราต้องรอดูกัน