ช่วงล่าง ถุงลม คืออะไร มีกี่แบบ แล้วใครกันล่ะที่เหมาะจะใช้

ยืดอก พกถุง คำฮิตที่หลายคนเอามาแปลงใช้กับศัพท์ทางรถยนต์ ที่รถคันนั้นๆ ใช้ช่วงล่างแบบ ถุงลม ซึ่งแน่นอนว่าตามความเข้าใจแบบกลมๆ ของคนส่วนมากจะเข้าใจดีว่าช่วงล่างแบบถุงลม หรือ Air Suspension จะมีอยู่ในรถแพงๆ รถบัส อะไรพวกนี้ ว่าแต่ว่าทำไมบางคนถึงไขว่คว้าหากันล่ะ
ทำความเข้าใจกันก่อนว่า ช่วงล่าง หรือ Suspension จะหมายรวมถึงระบบรองรับทั้งหมดที่อยู่ใต้ตัวถัง ทั้งช็อคอัพ สปริง เหล็กอาร์ม แกนต่อต่างๆ ทำหน้าที่คั่นกลางระหว่างตัวถัง เครื่องยนต์ ฯลฯ ก่อนที่จะถูกส่งผ่านไปยังล้อ โดยทำหน้าที่ลดแรงกระแทกเมื่อวิ่งผ่านพื้นผิวไม่เรียบ
สำหรับ ถุงลม ก็คือ ระบบรองรับน้ำหนักชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าเหมือนกับ สปริง, แหนบ, ทอร์ชั่นบาร์, ไฮดรอนิวเมติก หมายความว่า รถยนต์แต่ละรุ่นๆ ที่เค้าออกแบบมา จะใช้อะไรเป็นตัวรองรับน้ำหนักที่เหมาะสมกับการใช้งาน เช่น รถเก๋งส่วนใหญ่ใช้สปริง (แบบขดๆ) รถกระบะใช้แหนบในด้านหลัง หรือด้านบางรุ่นใช้ทอร์ชั่นบาร์ หรืออย่างคนยุคเก่าจะรู้จักไฮดรอนิวเมติกในรถซีตรอง ซึ่งรองรับน้ำหนักตัวถังด้วยการถ่ายเทก๊าซและของเหลว อะไรอย่างนี้เป็นต้น
ถุงลม จึงเป็นสปริงชนิดหนึ่ง (air spring หรือ pneumatic) ที่มีไว้รองรับน้ำหนัก ลดการสั่นสะเทือนเมื่อขับผ่านพื้นผิวไม่เรียบ ซึ่งระบบรองรับแบบ นิวเมติก (คนละแบบกับไฮดรอนิวเมติกนะ) หรือถุงลม (สปริงอากาศ) ฉะนั้น นิวเมติก และถุงลมคือชนิดเดียวกันนะ
ระบบรองรับน้ำหนักแลลนิวเมติก หรือสปริงอากาศ นั้น ในระบบจะมี ปั๊มอากาศ ป้อนหรือชดเชย เข้าไปในถุง เพื่อให้ ลม ไปกำหนดค่า K ให้อ่อนหรือแข็งได้ ตามการคำนวณของคอมพิวเตอร์ และเซนเซอร์ เนื่องจากถ้าเป็นระบบรองรับน้ำหนักที่ใช้ สปริงแบบขดๆ ค่า K จะมีเพียงค่าเดียว หากมีน้ำหนัก กดทับ ลงบนสปริงมากขึ้น เช่น เวลาขับคนเดียวกับมีผู้โดยสารเพิ่มมาอีก 4-5 คน จะส่งผลให้ลักษณะของรถเปลี่ยนไป หน้าอาจจะเชิด หลังอาจจะทิ่ม ขึ้นอยู่กับน้ำหนักไปตกลงตรงไหนมากกว่ากัน มีผลถึงการขับขี่ การควบคุม
ดังนั้นการใช้ระบบรองรับน้ำหนักแบบถุงลม จึงเป็นการสร้าง สมดุล ให้กับตัวรถ ซึ่งสปริงขดๆ แหนบ ทอร์ชั่นบาร์ ไม่สามารถทำได้ เมื่อมีน้ำหนักบรรทุกเยอะๆ ส่วนความนุ่มนวลที่มักกล่าวขวัญกันนั้น ไม่แน่เสมอไป เพราะรู้สึกแข็งกระด้างก็มี ขึ้นอยู่ที่การออกแบบ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ช็อคอัพ ที่ทำหน้าที่หยุดการสั่นสะเทือนของถุงลมด้วย
แต่ส่วนใหญ่ที่ให้ความนุ่มนวลเป็นเพราะ รถที่ติดตั้งมาให้จากโรงงานจะเป็นรถที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นคาแร็กเตอร์ที่ต้องการความนุ่มนวล นั่งสบายอยู่แล้ว แต่การรักษาสมดุล การปรับสูง-ต่ำได้ตามโหมด คือสิ่งที่ สปริงอากาศ ตอบโจทย์ผู้ใช้ เพราะปรับได้เซ็ตได้

ถุงลม มีกี่แบบ

1. Convoluted Type
แบบเป็นข้อๆ หรือเป็นชั้นๆ แบบนี้จะเหมาะกับผู้ที่ต้องการปรับเปลี่ยนความสูง-ต่ำไปมา ได้เยอะๆ และทนทาน
2. Reversible Sleeve Type
แบบทรงกระบอก ทำงานโดยการพับซ้อนของชั้นยางภายในถุง เมื่อมีการป้อน และคายอากาศ เปลืองเนื้อที่น้อยกว่า

กล่าวโดยสรุป

ถุงลมจะมีให้ในรถยนต์ราคาแพงๆ หน่อย รถหรูที่ต้องการความนุ่มนวล ซึ่งมักจะเป็นรถที่มีขนาดใหญ่หน่อยทั้งเก๋ง และ SUV รวมไปถึง รถบัส รถบรรทุก เนื่องจากรถประเภทนี้ต้องมีการบรรทุกที่หนักมาก สมดุลของรถจึงสำคัญ เพราะมีผลต่อความปลอดภัยอย่างสูง
รถที่เป็นพวก สายโชว์ ต้องการความ แปลกประหลาด แตกต่างจากรถในรุ่นเดียวกัน (รถแต่งแนว VIP, Low Rider) รถจำพวกนี้เจ้าของรถจะหาติดตั้งจากผู้จำหน่ายเอง ซึ่งต้องมีการดัดแปลงอุปกรณ์ให้เข้ากับรุ่นนั้นๆ โดยจะปรับสูง-ต่ำได้เยอะกว่า เลือกการปรับได้มากกว่าว่าจะเอาล้อไหน
ทั้งนี้ทั้งนั้นความทนทานก็ยังคงเป็นสิ่งที่ผู้ใช้ตั้งคำถามอยู่เสมอ เพราะอาการจะออกเมื่อมีการ รั่ว ซึ่งถ้ารุนแรงจะขับต่อไม่ได้ ไม่เหมือนกับระบบรองรับน้ำหนักชนิดอื่น