น้ำยา อะไร ฆ่าเชื้อไวรัส โควิด-19 ในรถ ได้บ้าง

แน่นอนว่าตอนนี้ช่วง 2 เดือนมานี้ เชื้อไวรัส โควิด-19 สร้างความประหวั่นพรั่นพรึงไปทุกหัวระแหงทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อโรคตัวนี้สามารถจะไปเกาะอยู่ตามสิ่งของต่างๆ ได้เป็นเวลานานๆ หากไม่โดนแสงแดดเป็นเวลานานๆ ฆ่าตายไปเสียก่อน ซึ่งรถยนต์ก็เป็นหนึ่งในสิ่งของที่มีความเสี่ยงแห่งการเป็นที่อาศัยของเชื้อโรคชนิดนี้ เพราะส่วนใหญ่เราใช้เป็นประจำ โดยมีหลายที่ที่เค้าให้บริการพ่นฆ่าเชื้อโรค แต่ถ้าหากเราอยากทำเองล่ะ จะมี น้ำยา อะไรที่ ฆ่าเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้บ้าง
ต้องบอกก่อนว่า บทความนี้จะแนะนำ น้ำยา หรือ สารประกอบ ที่มีวางจำหน่ายในท้องตลาด ที่เราๆ ท่านๆ แบบชาวบ้านๆ สามารถหาซื้อกันได้ไม่ยาก แต่น้ำยาบางตัวเมื่อซื้อมาแล้วจะต้องมีการ ผสม เพื่อให้ได้ความเข้มข้น ที่พอเหมาะ จึงจะสามารถ ฆ่าเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้ โดยไม่ทำอันตรายต่อร่างกายผู้ฉีดพ่น
ก่อนที่จะไปดูว่า มีน้ำยากำจัดเชื้ออะไรบ้างในท้องตลาด ขอแนะนำให้ไปทำความรู้จักกันสักนิดว่า สารฆ่าเชื้อ ที่มีชื่อเคมีอะไรบ้าง ที่สามารถฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่าได้บ้าง และต้องมีความเข้มข้นกี่ % โดยปริมาตร จึงจะฆ่าเชื้อได้บ้าง

น้ำยา ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาด โดยนำมาผสมและฉีดพ่นเพื่อ ฆ่าเชื้อ ไวรัส โควิด-19 ในรถ

 

ก่อนจะทำการฉีดพ่นด้วยตัวเอง แนะนำว่าควรซื้อ บรรจุภัณฑ์ ที่ไว้ฉีดพ่นมาด้วย ซึ่งไม่มีอะไรพิสดาร สามารถหาซื้อได้ตามร้านค้าทั่วไปอีกเช่นกัน อาจจะเป็น ฟ็อกกี้ ตั้งแต่แบบราคาถูกไปยันราคาแพง ของดีหน่อยก็จะเบามือ ช่วยทุ่นแรงไปได้เยอะ เลือกเอาตามใจชอบ และกำลังทรัพย์

1. เอทิลแอลกอฮอลล์

หาซื้อง่ายสุดตามร้านขายยา แต่ช่วงไม่ปกติแบบนี้ราคาก็จะสูงหน่อย ความเข้มข้นไม่น้อยกว่า 70% ส่วนใหญ่แล้วที่เวลาเราไปซื้อ เค้าจะทำมาสำเร็จรูปแล้ว ไม่ต้องผสมหรือเจือจางอีก เทใส่ภาชนะที่ใช้ฉีดพ่นได้เลย สามารถสัมผัสได้ ปลอดภัยต่อผิวหนัง..บางทีถ้าไปซื้อบางยี่ห้อ อาจจะเป็น ไอโซโพรฟิล แอลกอฮอลล์ (หน้าตาเหมือนๆกัน) ใช้ได้แบบเดียวกัน

2. เดทตอล (แบบมีมงกุฏ)

เป็นผลิตภัณฑ์ที่รู้จักกันแพร่หลาย สังเกตที่ฉลาก (เหนือโลโก้คำว่า เดทตอล) จะมีรูปมงกุฏกำกับอยู่ มีสารประกอบ คลอโรไซลินอล เป็นหลัก เวลาใช้ให้นำไปผสมน้ำในอัตรา เดทตอล 1 ส่วน ต่อ น้ำเปล่า 39 ส่วน ผสมแล้วใช้ฉีดพ่นทันทีอย่าทิ้งไว้นาน รุ่นที่มงกุฏนี้ปลอดภัยต่อผิวหนัง หากผสมถูกสัดส่วนตามที่บอก

3. เดทตอล (แบบไม่มีมงกุฏ)

แบบนี้จะมีสาร เบนซาลโคเนียม คลอไรด์ เป็นส่วนประกอบ มีความเข้มข้นในตัวอยู่ 2.4% ดังนั้นถ้าซื้อแบบนี้มา ต้องนำมาผสมน้ำ เพื่อให้ได้ความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 0.05% โดยปริมาตร จึงจะฆ่าเชื้อได้ แต่เดทตอลชนิดนี้จะเหมาะกับกับการฉีดพ่นที่ต้องมีอุปกรณ์ป้องกันตัวเองซักนิด เพราะทำให้ระคายเคืองผิวหนังได้ จึงเหมาะกับการนำไปฆ่าเชื้อที่ผู้ใช้มีความเสี่ยงในการสัมผัสน้อย

4. น้ำยาซักผ้าขาว

ถ้าบอกว่า ไฮเตอร์ หลายคนคงร้องอ่อ! หรือจะเป็นยี่ห้ออื่นก็ได้ที่เป็นจำพวกน้ำยาซักผ้าขาว เพราะจะมีสาร โซเดียม ไฮโปคลอไรท์ โดยยผลิตภัณฑ์ชนิดนี้จะมีความเข้มข้นในตัวราว 6% ดังนั้นก่อนใช้ต้องเจือจางให้เหลือความเข้มข้น 0.1% จึงจะลดความอันตรายลง และสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ หากสัมผัสโดยตรงเกิดอาการปวดแสบปวดร้อนแน่นอน

5. ไฮโดรเจน ล้างแผล

ซื้อได้ตามร้านขายยาอีกเช่นกัน ชื่อสามัญคือ ไฮโดรเจน เปอร์ออกไซด์ สังเกตที่ฉลากจะมีความเข้มข้น 3% กับ 6% แต่ส่วนใหญ่จะเจอแต่ 3% เวลานำมาใช้ให้เจือจางจนเหลือความเข้มข้นไม่ต่ำกว่า 0.5% จึงจะฆ่าเชื้อโรคได้ (ความเข้มข้น 3%ให้ผสมกับน้ำ 5 ส่วน) ปลอดภัยต่อผิวหนัง
สรุปแล้วให้ผสมให้ถูกต้องตามความเข้มข้นที่แนะนำ (รับรองจากสำนักงานสิ่งแวดล้อมแห่งชาติสิงคโปร์ NEA) ที่สำคัญหากฉีดพ่น รถยนต์ ด้วยตัวเอง ต้องระมัดระวังอย่าให้โดนวัสดุที่เป็นพลาสติก ยาง และหนัง เพราะจะทำให้ ด่าง ดังนั้นน้ำยาที่แนะนำจึงเป็น เดทตอล(รุ่นมีมงกุฏ) และฉีดให้เป็นละอองฝอยมากที่สุด