รีวิว All New FORD Ranger ” ทดสอบ ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์ “

หลังการเปิดตัว All New Ford Ranger ” ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์ ” เวอร์ชั่นล่าสุดอย่างอลังการไปไม่นาน หมายเชิญจาก ฟอร์ด ประเทศไทย ก็ถูก ร่อนมาถึง iAMCAR เพื่อเชื้อเชิญให้เข้าร่วมกลุ่มทดลองขับ โดยมีจุดหมายปลายทางอยู่ที่จังหวัดกาญจนบุรี

 

All New Ford Ranger

ณ จุดรวมพลในช่วงเช้า ผมซึ่งเป็นตัวแทนจาก iAMCAR กำลังยืนจ้องมอง All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ที่จอดรอรับพวกเราอยู่บริเวณด้านหน้าของอาคารสำนักงานห้างหนึ่งซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง และเป็นย่านที่รถติดชนิดที่ว่า “ติดจนลืม” เลยทีเดียว และด้วยประสบการณ์ที่เคยทดลองขับปิคอัพขนาดยักษ์อย่าง Ford Ranger มาแล้ว และรู้ซึ้งถึงขนาดตัวรถ และการควบคุมได้เป็นอย่างดี เลยทำให้งานนี้เรารู้สึกหนาวๆ ร้อนๆ ขึ้นมานิดๆ กับสภาพการจราจรแสนสาหัสที่เราต้องฝ่าออกไป และเราเองก็คงจะทำอะไรไม่ได้นอกจากโยนให้เพื่อนร่วมรถด้วยกันเป็นคนขับ

แต่หลังจากที่ได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ใหม่เกี่ยวกับส่วนที่ปรับปรุงขึ้นมา มันก็ทำให้เรารู้สึกใจชื้นขึ้นมาทันที โดยเฉพาะกับการปรับปรุงในเรื่องของระบบพวงมาลัยแบบใหม่แบบแร็ค แอนด์ พิเนี่ยน พร้อมเพาเวอร์ช่วยผ่อนแรงไฟฟ้า EPAS ที่ว่ากันว่าจะช่วยให้ทุกการควบคุมเป็นเรื่องง่ายขึ้น ซึ่งจะจริงหรือไม่ในอีกไม่กี่อึดใจเราคงได้ทราบกัน

เคลื่อนตัวออกจากจุดจอด

ทันทีที่ทุกอย่างพร้อมขบวนของ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ก็เคลื่อนตัวออกจากจุดจอด โดย iAMCAR มากับตัวท็อปสุดของ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ด้วยรุ่น Wildtrak พิกัด 3.2 ลิตร เกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด และระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ พร้อมด้วยความแปลกใจที่ทำเอาปรับตัวแทบไม่ทัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าคุณจำน้ำหนักพวงมาลัยจากรุ่นที่แล้วได้แม่น เพราะน้ำหนักพวงมาลัยของ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ต้องเรียกได้ว่าแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง ยิ่งในความเร็วต่ำคุณแทบจะไม่ต้องออกแรงหมุนพวงมาลัยเหมือนรุ่นที่ผ่านมาเลยทีเดียว ทำให้ครั้งนี้เราต้องปรับตัวเพื่อให้ชินกับน้ำหนักพวงมาลัยโดยเร็ว ก่อนที่จะออกไปพบเจอการจราจรภายนอกอาคาร และหลังจากที่สามารถปรับตัวกับน้ำหนักพวงมาลัยใหม่ได้แล้ว เมื่อนั้นคุณจะพบกับความสะดวกสบายอย่างแรกโดยทันที กับการเคลื่อนที่ในสภาพการจราจรสุดย่ำแย่ช่วงเช้ากลางเมืองน้ำหนักพวงมาลัยที่ปรับเซ็ทขึ้นใหม่ คือ สิ่งที่ช่วยให้การขับขี่ในเมืองด้วยรถคันใหญ่เป็นเรื่องง่ายขึ้นจากน้ำหนักที่เบา และการตอบสนองที่เฉียบคม และแม่นยำ จนทำให้รู้สึกว่าไม่เป็นการขับขี่ที่ “เหนื่อย” อีกต่อไป ซึ่งถ้าไม่นับเรื่องทัศนวิสัยการขับขี่ที่สูง เราคงนึกว่า All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ไม่ได้เป็นรถปิคอัพอีกต่อไป แต่เป็นเพียงแค่รถยนต์นั่งคันใหญ่เท่านั้น

 

เครื่องยนต์

ในอีกชั่วอึดใจเราก็ผ่านพ้นสภาพการจราจาหนาแน่น มาสู่เส้นทางที่สามารถเริ่มขยับความเร็วขึ้นได้อีกระดับ ซึ่งทำให้เราได้เมามันส์กับพละกำลังจากเครื่องยนต์ดีเซล ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ วีจี เทอร์โบ 5 สูบ พิกัด 3.2 ลิตร ที่มีเรี่ยวแรงระดับ 200 แรงม้า และแรงบิด 470 นิวตันเมตร ที่รอบต่ำๆ ตั้งแต่ 1,750 รอบต่อนาที ไปจนถึง 2,500 รอบต่อนาที โดยมีระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ 6 สปีด รับหน้าที่ส่งกำลังสู่ล้อหลัง เนื่องจากเรายังคงใช้โหมด 2WD ในการขับขี่แบบปกติ สำหรับอรรถรสการขับขี่จากพละกำลังนั้นยังคงเป็น Ranger ที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะเรื่องการตอบสนองที่ต้องเรียกว่าอยู่ในระดับที่ “สะใจ”

 

ระบบพวงมาลัย

ในขณะที่ระบบพวงมาลัยแม้จะปรับเซ็ทให้เบาแรงในความเร็วต่ำก็ตาม แต่กับความเร็วสูงเกินกว่าปกติอย่าง 150 -160 กม./ชม. All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” ก็ยังคงให้ความมั่นใจได้ดี ทั้งจากน้ำหนักพวงมาลัยที่เพิ่มน้ำหนักขึ้นตามระดับความเร็วที่ใช้ ตลอดจนระบบช่วงล่างที่รับรู้ได้ว่ามีการพัฒนาขึ้นอีกระดับ โดยสังเกตุจากความนุ่มนวล การทรงตัว และการยึดเกาะถนนทั้งบนทางตรง และทางโค้ง ซึ่งพูดง่ายๆ ว่า อารมณ์การขับขี่ของ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” นั้นมีส่วนผสมของความเป็นรถยนต์นั่งมากขึ้นทีเดียว และมันก็สร้างความมั่นใจได้มากพอที่จะทำให้ขบวนของเรา “เหาะ” กันมาด้วยความเร็ว จนกระทั่งเดินทางมาถึงจุดหมายปลายทาง

 

ระบบขับเคลื่อน

สถานที่สำหรับการทดสอบระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ อันเต็มไปด้วยอุปสรรคธรรมชาติมากมายที่เราจะต้องเจอ โหมดขับเคลื่อน 4 ล้อทั้ง 4H ที่สามารถ Shift on the Fly ได้ขณะใช้ความเร็วไม่เกิน 80 กม./ชม. ตลอดจนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ 4L ที่ต้องจอดรถนิ่ง และเปลี่ยนโหมดด้วยเกียร์ว่างเท่านั้นก่อนจะขับเคลื่อนต่อไป ได้ถูกนำมาใช้ทุกๆ เส้นทางการทดสอบ และทุกๆ สถานีทดสอบนั้นไม่ได้พิสูจน์แค่เพียงประสิทธิภาพของระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่สามารถสอบผ่านได้ทุกเส้นทางเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการพิสูจน์ถึงช่วงล่างที่นุ่มนวล และการทรงตัวได้ดีมากพอ ชนิดที่ว่าต่อให้ใส่โหมด 4H กดคันเร่ง “หวด” ไปบนเส้นทางที่เป็นหิน ตัวคุณก็ไม่กระเด้งลอยจากเบาะจนหัวโขกเพดาน นอกจากนี้ในโหมดขับเคลื่อน 4 ล้อ แบบ 4L บนเส้นทางทางชันระดับที่เงยหน้าแหงนมองท้องฟ้าได้อย่างเดียว New Ford Ranger ก็ยังเคลื่อนตัวพาเรือนร่างขนาดใหญ่ไต่ความชันขึ้นไปได้ง่ายๆ เพียงใช้รอบเดินเบา หรือแตะคันเร่งช่วยเพียงเล็กน้อยเท่านั้น นอกจากนี้มันยังช่วยให้คุณสามารถเป็นมือขับออฟโรดอย่างปลอดภัยได้ง่ายๆ ด้วยสารพัดตัวช่วยที่ติดตั้งมาให้เป็นอุปกรณ์มาตรฐาน เช่น ระบบควบคุมเสถียรภาพการทรงตัว (Electronic Stability Program), ระบบลดความเสี่ยงจากการพลิกคว่ำ (Rollover Mitigation), ระบบช่วยการออกตัวขณะจอดรถบนทางลาดชัน (Hill Launch Assist) และระบบควบคุมความเร็วขณะลงเขา (Hill Descent Control) แม้กระทั่งความสามารถในการลุยน้ำที่สามารถทำได้ลึกถึง 800 มิลลิเมตร รวมถึงการขับขี่ในสภาวะปกติ ก็ยังมีระบบลดอาการส่ายขณะลากจูงเทรลเลอร์ (Trailer Sway Control), ระบบควบคุมการบรรทุก (Adaptive Load Control) และระบบเบรกฉุกเฉิน (Emergency Brake Assistance) ทำงานร่วมกับตัวช่วยมาตรฐานอื่นๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจ และปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ซึ่งเราได้เรียนรู้ และสัมผัสมาอย่างเต็มคราบกับการทดสอบในรูปแบบของออฟโรดที่ผ่านมาเมื่อสักครู่ จนกระทั่งมั่นใจในประสิทธิภาพของ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” อย่างถ่องแท้ และผมเชื่อว่าอีกหลายคนที่ร่วมก๊วนเดินทางกันมาก็รู้สึกเช่นเดียวกัน

 

New Ford Ranger รุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร

และครั้งนี้นอกจากเราจะได้ทดลองขับ All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์” รุ่นท็อปสุด เพื่อพิสูจน์สมรรถนะในหลายๆ เส้นทาง รวมถึงความสามารถในการ “ลุย” แล้ว งานนี้เรายังได้ขับ New Ford Ranger กันแบบ “จิมคาน่า” ด้วยรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร ต่ออีกด้วย โดยงานนี้แต่ละคนต่างก็ใช้ทักษะที่มีกันอย่างเต็มที่ เพื่อตัวเลขที่ “ดี” และ “เร็ว” ที่สุด แต่บนสนามจิมคาน่า ผมกลับพบว่าในบางจังหวะ เครื่องยนต์ดีเซล ดูราทอร์ค ทีดีซีไอ วีจี เทอร์โบ ขนาด 2.2 ลิตร แบบ 4 สูบ รุ่นล่าสุด ที่ได้รับการพัฒนา เพื่อเพิ่มพละกำลังสูงสุดเป็น 160 แรงม้า และเพิ่มแรงบิดเป็น 385 นิวตันเมตร กับเกียร์อัตโนมัตินั้น มีจังหวะการตอบสนองที่ยังเติมเต็มความต่อเนื่องได้ไม่มากพอ เพราะหลังจากที่ U-Turn กลับรถ จังหวะสวนพวงมาลัยกลับ และกดคันเร่งเพื่อให้ล้อหลังตะกุยถีบตัวไปด้านหน้านั้น ยังเป็นอะไรที่ขัดใจอยู่เล็กน้อย ตลอดจนชุดช่วงล่างที่ต้องเรียกว่ายอมรับในความหนักแน่น มั่นคง และมีเสถียรภาพมากจนเทคนิค “การเอาตูดช่วยเลี้ยว” ในการขับแบบจิมคาน่านั้นใช้ไม่ได้ ซึ่งแน่นอนครับว่ามันเป็น “ฝันร้าย” ของการแข่งขันในสไตล์จิมคาน่า (ก็แน่ล่ะครับ เพราะนี่มันคือ รถสำหรับใช้งาน ไม่ได้ถูกปรับเซ็ทเพื่อการแข่งขัน เอาแค่ขับมันส์ๆ ก็พอ) แต่เชื่อหรือไม่ว่าในฝันร้ายนี้ นี่คือสิ่งที่เป็นจุดดี และข้อดีสำหรับการขับขี่ปกติในชีวิตประจำวัน เพราะสิ่งนี้จะหมายถึง “ความปลอดภัย” ที่ถูกยกระดับขึ้นอย่างเห็นได้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของช่วงล่างที่แสดงให้เห็นถึงการยึดเกาะถนนที่ยอดเยี่ยม

 

ขุมพลังในรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร

ในขณะเดียวกันการขาดความต่อเนื่องของขุมพลังในรุ่นเครื่องยนต์ 2.2 ลิตร นั้นเป็นเรื่องที่ผมไม่ซีเรียสเท่าไหร่ เพราะเชื่อว่าน้อยคนนักที่จะเอา All New Ford Ranger “ออล นิว ฟอร์ด เรนเจอร์”เครื่องยนต์ 2.2 ลิตร มากระแทกคันเร่งเล่นๆ ในรูปแบบการขับจิมคาน่า เพราะส่วนใหญ่ก็คงใช้งานทั่วไปปกติ เน้นการบรรทุก การโดยสาร ไปพร้อมๆ กับการประหยัดน้ำมัน และความปลอดภัยเป็นหลัก ฉะนั้นเรื่องความแรง เราเดาว่าคงน่าจะเป็นเรื่องรองของคนซื้อรถกลุ่มนี้

 

และไม่ว่าจะใครจะควักเงินจ่ายเพื่อครอบครองๆ รุ่นไหนก็แล้วแต่ สิ่งหนึ่งที่ทั้ง 2 รุ่นมีเหมือนกันก็คือ ความหล่อเหลา, ความสะดวกสบาย และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกที่ยกใส่มาให้แบบครบครัน เริ่มจากจุดเด่นภายนอกที่ทำให้ผู้คนรอบข้างต่างก็จับจ้องรถผมมาทั้งวัน ตั้งแต่ ภายนอกที่เปลี่ยนกันแบบ “ยกหัว” ตั้งแต่ด้านหน้าสุดไล่เข้าไปจนถึงตำแหน่งเสา A ทุกรุ่น พร้อมด้วยการเพิ่มเติมรายละเอียดในแต่ละรุ่นย่อย เช่น Wildtrak ที่ดุดัน มากับความโดดเด่นด้วยไฟหน้าโปรเจกเตอร์ และกระจังหน้าทรงสี่เหลี่ยม เช่นเดียวกับไฟตัดหมอก คางหมูแบบสปอร์ต, กระจกด้านข้าง, มือจับประตู, ช่องลมด้านข้าง, ราวเสริมขอบกระบะท้าย และไฟท้าย ใช้วัสดุเคลือบสีเทาดำแบบเมทัลลิก ตลอดจนการเลือกใช้ล้อขอบ 18 นิ้ว ลวดลายเอกลักษณ์ เพื่อสร้างความโฉบเฉี่ยว

ห้องโดยสาร

ส่วนห้องโดยสารเน้นความสปอร์ตด้วยสีส้มทูโทน หุ้มหนังในบริเวณคอนโซลหน้าและเดินรอยเย็บสีส้มตลอดแนว อันเป็นการผสมผสานความพรีเมียม และความดุดันไว้อย่างลงตัย ติดตั้งเบาะนั่งแบบสปอร์ตคู่หน้า ที่ปรับเปลี่ยนได้ถึง 8 ทิศทางด้วยระบบไฟฟ้า พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกเช่น ระบบ Wi-Fi Hotspot ทำให้สามารถเชื่อมต่ออินเตอร์เนตได้แม้ระหว่างเดินทาง, ช่องต่อไฟ 230 โวลต์, ไฟส่องสว่างกระบะหลัง และระบบกุญแจ MyKey ตลอดจนหน้าจอควบคุมแบบ Touchscreen ขนาด 8 นิ้ว พร้อมแผงหน้าปัดควบคุมแบบหน้าจอ Dual TFT ช่วยแสดงข้อมูลต่างๆ ภายในรถ, ชุดพวงมาลัยมัลติฟังค์ชั่น, ระบบสั่งงานด้วยเสียงใหม่ SYNC 2 และสัญญาณเซ็นเซอร์ช่วยจอดหน้าหลัง (Front and Rear Park Assist)

 

ทางด้านรุ่น 2.2 ที่เพิ่งได้ขับไปซักครู่นั้นในเรื่งอความหล่อเหลาอาจะด้อยลงไปบ้างในส่วนของเสื้อผ้า หรือชุดแต่งที่ขาดหายไป แต่ก็ยังถือว่ารูปหล่อจนหลายคนจับตามอง ส่วนออพชั่นนั้นแน่นอนว่ามีการหลดหลั่นกันไปตามแต่ละรุ่นย่อย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สำหรับอารมณ์โดยรวมแล้วทั้ง 2 รุ่น ยังคงยึดถือแนวทางภายใต้วัตถุประสงค์เดียวกัน คือ การออกแบบเพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่สะดวกสบายยิ่งขึ้นแบบรถยนต์นั่ง ควบคู่ไปกับการให้ความรู้สึกทันสมัย โฉบเฉี่ยว เน้นให้ห้องโดยสารดูโออ่า และกว้างขวาง ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่เราชื่อว่าผู้บริโภคต้องชอบแน่

 

ระบบขับเคลื่อน

แต่สุดท้ายเรื่องระดับความสามารถทั้งรุ่นท็อปขับเคลื่อน 4 ล้อ พิกัด 3.2 ลิตร และแบบขับเคลื่อน 2 ล้อ พิกัด 2.2 ลิตร ต่างก็มีจุดประสงค์ในการใช้งานที่แตกต่างกัน ทั้งนี้ ทั้งนั้นเพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ที่แตกต่าง เพราะฉะนั้นมันจึงมีข้อจำกัด และข้อดีที่ต่างกันตามแต่ละการใช้งาน และเราคงไม่อาจฟันธงได้ว่ารุ่นไหนดีที่สุดให้คนที่กำลังอ่านบทความนี้อยู่ เว้นแต่คุณจะตอบตัวเองได้ว่ามีไลฟ์สไตล์แบบไหน และต้องการรถแบบไหนสำหรับเติมเต็มความต้องการของคุณ นั่นแหละถึงจะได้คำตอบว่า “รุ่นไหนดีที่สุดสำหรับคุณ” แต่ถ้าถามเรา เราบอกได้เลยว่าจากการทดลองขับในทุกรูปแบบ ทั้งจิมคาน่าที่จัดขึ้น เราบอกได้อย่างเดียวว่า “ประทับใจ” กับมันทั้ง 2 รุ่นครับ


บทความแนะนำเกี่ยวกับ Ford

ใหม่ All New Ford Everest ( ฟอร์ด เอเวอเรสต์ ใหม่ )รถอเนกประสงค์ระดับพรีเมี่ยม จาก Ford ราคา เริ่มต้นเพียง 1.3 ล้าน

เปิดตัว All New Ford Fiesta ( ฟอร์ด เฟียสต้า ใหม่ ) 2017 รถสปอร์ต Hatchback ดีไซน์ใหม่ล่าสุด

Ford รุกหน้าขยายเครือข่ายโชว์รูมและศูนย์บริการอย่างต่อเนื่อง