รีวิว : All-new Honda CR-V ( ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ ) แบบ One Day Trip เส้นทางกรุงเทพฯ-วังน้ำเขียว

ออกสู่สายตาเพิ่มอีกรุ่นสำหรับ All-new Honda CR-V ( ฮอนด้า ซีอาร์-วี ใหม่ ) รถอเนกประสงค์ระดับหรูของค่าย HONDA หลังจากเปิดตัวไปได้ไม่กี่วัน บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ก็จัดกิจกรรมการทดสอบแบบ One Day Trip เส้นทางกรุงเทพฯ-วังน้ำเขียว เพื่อให้สื่อมวลชนทุกแขนงได้สัมผัสสมรรถนะกันอย่างเต็มที่

 

All-new Honda CR-V

ก่อนที่จะเริ่มต้นการทดสอบ ทางวิศวกรจากญี่ปุ่นได้มาบรรยายถึงจุดเด่นของผลิตภัณฑ์ รวมถึงตำนานของเจ้ารถตระกูล CR-V ที่ออกแบบมาเพื่อเน้นความเป็นอเนกประสงค์ของการเดินทาง โดยเริ่มต้นขึ้น เมื่อปี 1995 เป็นเจนเนอเรชั่นแรก จากนั้นพัฒนาต่อมาอีก 2 รุ่นก่อนจะมาเป็น All-New HONDA CR-V เจ้า Sport Utility Vehicle คันใหม่ล่าสุดจากค่ายนี้ ซึ่งได้รับการออกแบบใหม่ทั้งคันจากด้านหน้าจรดด้านท้าย เน้นดีไซน์แข็งแกร่ง แต่หรูหรามีระดับ นอกจากนั้นยังออกแบบที่นั่งตอนหน้าให้มีตำแหน่งผู้ขับเหมือนรถซีดาน พื้นที่เหนือศรีษะโปร่ง และพื้นที่เก็บสัมภาระในระดับเดียวกับตัวรถ ส่วนเครื่องยนต์มีให้เลือก 2 บล็อค ทั้งเครื่องยนต์ SOHC i-VTEC ขนาด 2.0 ลิตร (กำลังสูงสุด 155 แรงม้า) และเครื่องยนต์ DOHC i-VTEC ขนาด 2.4 ลิตร (กำลังสูงสุด 170 แรงม้า) เกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด ขับเคลื่อนแบบ 2 ล้อ และขับเคลื่อน 4 ล้อ พอทราบรายละเอียดกันคร่าวๆ แล้ว เราก็ออกเดินทางเพื่อไปสัมผัสตัวจริงๆ ของ All-New HONDA CR-V กันดีกว่าครับ

 

การดีไซน์

สำหรับการเดินทางในครั้งนี้ผมเองได้ทดลองขับ All-New HONDA CR-V รุ่น 2.0 E ขับเคลื่อน 4 ล้อ ราคา 1,274,000 บาท ในการเดินทาง ถ้าเราจะมามองเรื่องการดีไซน์ความสวยงามของตัวรถ ผมว่ามันเป็นเรื่องนานาจิตตังว่าสวยหรือไม่สวย แต่ว่าความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในเจนเนอเรชั่นที่ 4 นี้ คือ การใส่ความเป็นสปอร์ตดุดันเข้าไปมากกว่าที่จะเป็น SUV หรูๆ อย่างที่เคยเป็น แต่ในเรื่องเส้นสายความอ่อนช้อยของตัวรถยังทำได้เนียบกริบ ยิ่งเมื่อมองจากหัวมาจรดท้ายแล้วจบลงที่ไฟท้าย ต้องบอกว่าลงตัวมากกับไฟท้ายที่ไหลลื่นร้อยเรียงกับมุมมองด้านท้าย ความรู้สึกผม…เรื่องการดีไซน์ความเป็นอเนกประสงค์อยู่ครบครัน เส้นสายที่งดงามยังมีอยู่มาก แต่ก็ใช้สีดำเข้ามาตัดในส่วนของกันชนหน้า ด้านในของกระจังหน้า คิ้วขอบชายล่างด้านข้าง โป่งข้าง และกันชนท้ายในสัดส่วนที่ครอบคลุมพื้นที่มากกว่ารุ่นเดิม ทำให้ดูดุดันมากขึ้น แต่สิ่งที่หายไป คือ ความหรูหรา

 

เครื่องยนต์

ในเรื่องของเครื่องยนต์บล็อค 2.0 ลิตรที่สามารถใช้น้ำมันเชื้อเพลิงเอทานอล E85 ขับเคลื่อน 4 ล้อ ผมของอธิบายในส่วนระบบขับเคลื่อน 4 ล้อ REAL TIME ก่อนครับ ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อนี้จะออกมาใช้งานต่อเมื่อเราใช้เส้นทางที่มีลักษณะทุรกันดาร เช่น ถ้ารถคุณติดหล่มแล้วระบบขับ 2 ล้อหน้าไปสามารถดึงตัวรถขึ้นจากอุปสรรคนี้ได้ ระบบจะคำนวนส่งกำลังมาสู่ล้อหลังให้สามารถพลักดันให้ระบบขับเคลื่อนผ่านอุปสรรคนั้นออกไปได้ แต่ในขณะที่คุณขับบนถนน High Way หรือการใช้งานในถนนปกติระบบขับเคลื่อนจะเป็น 2 ล้อหน้าเท่านั้น ในส่วนของสมรรถนะเครื่องยนต์ 150 แรงม้านี้ เมื่อประกอบกับเกียร์อัตโนมัติ 5 สปีด ควบคุมด้วยระบบอิเล็คทรอนิกส์ Grade Logic Control ในการเดินทางบนถนน High Way ถือว่าดีครับ ทำได้นิ่มนวลทุกช่วงอัตราเร่ง แม้อัตราเร่งในช่วงออกตัว 0-60 กม./ชม. จะดูไม่รุนแรง แต่เมื่อเกิน 60 กม./ชม. ไปแล้วทำได้ไหลลื่นในทุกจังหวะของเกียร์ ส่วนเรื่องอัตราเร่งในจังหวะของการเดินทางอยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจสำหรับเครื่องยนต์ 2.0 ลิตรที่ต้องแบกน้ำหนักตัวรถ 1.550 กม. ส่วนความเร็วปลายที่ผมทำได้อยู่ราวๆ 182 กม./ชม. ในเรื่องอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมัน ซึ่งดูจากมาตรวัดที่เรือนไมล์ประมาณ 10.4 กม./ลิตร ซึ่งเราใช้ความเร็วเฉลี่ยในการเดินทาง 120 กม./ชม.

 

ภายใน

มาดูกันต่อในส่วนของภายใน การเก็บเสียงในห้องโดยสารทำได้เยี่ยมตามมาตรฐาน HONDA การดีไซน์ของคอนโซลนอกจากจะใช้งานได้สะดวกและยังคำนึงถึงทัศนะวิสัยที่ดี ส่วนเบาะนั่งที่เน้นให้เหมือนรถซีดาน แต่มุมมองในการขับขี่ทัศนะวิสัยยังดีเหมือนเดิมครับ จุดเด่นของการออกแบบเบาะนั่งของรถ All-New HONDA CR-V สามารถปรับใช้งานได้สองแบบ ครับ คือ ปรับท่านั่งเบาะเตี้ยๆ แบบซีดาน หรือจะปรับให้สูงในสไตล์ของ SUV ก็ได้ ส่วนหัวเข่าที่ชนคอนโซลนั้นทาง HONDA ออกแบบให้คอนโซลมีจุดล็อคขา เพื่อป้องกันการโคลงของผู้ขับขี่เวลาที่เข้าโค้งแรงๆ ครับผม” ข้อสงสัยนี้ก็เลยจบไปจากความรู้สึกผม

 

เทคโนโลยี

มาดูต่อกับเทคโนโลยีที่มีมาให้ดีกว่า เช่น หน้าจอแสดงข้อมูลแบบอัจฉริยะ i-MID แผงมาตรวัดแบบเรืองแสง ระบบเนวิเกเตอร์พร้อมเครื่องเล่น DVD และระบบเชื่อมต่อโทรศัพท์แบบไร้สาย Bluetooth ผสานระบบเครื่องเสียงที่มีโหมดการปรับความดังของเพลงอัตโนมัติตามความเร็วของรถยนต์ (Speed-Sensitive Volume Control: SVC) รวมไปถึงระบบสตาร์ทเครื่องยนต์แบบอัจฉริยะ One Push Ignition System และระบบควบคุมประตูแบบอัจฉริยะ Honda Smart Key System ที่สำคัญต้องยกให้ ระบบช่วยการขับขี่แบบประหยัดน้ำมัน Eco Assist / ECON Mode ส่วนเบาะหลังสามารถปรับให้มีพื้นที่เก็บสัมภาระเพิ่ม แบบง่ายดายด้วยระบบ One Touch

 

ระบบช่วงล่าง

ระบบช่วงล่างจุดนี้ทดสอบกันแบบจัดเต็ม เพราะเส้นทางเข้าสู่วังน้ำเขียวเป็นโค้งขึ้น-ลงเขาตลอดเส้นทาง ในส่วนช่วงล่างนี้มีการปรับเพิ่มขนาด Damper อีก 10 % จากของเดิม พวงมาลัยเปลี่ยนมาเป็น แร็ค แอนด์ ฟิเนียน พร้อมเพาเวอร์ผ่อนแรงแบบไฟฟ้า EPS ส่วนที่เพิ่มเติมความปลอดภัย คือ ระบบควบคุมการทรงตัว VSA พร้อมระบบช่วยควบคุมการบังคับพวงมาลัย MA-EPS ระบบป้องกันล้อล็อค ABS พร้อมระบบกระจายแรงเบรก EBD ระบบช่วยออกตัวบนทางลาดชัน Hill Start Assist จากการที่ได้สัมผัสน้ำหนักพวงมาลัย ซึ่งมีน้ำหนักที่เบาลง สามารถขับง่ายขึ้นในความเร็วต่ำ การแปรผันในความเร็วสูงยังทำได้เหมาะสม ตัวช่วงล่างเองทำได้นิ่มนวลขึ้นมากในการเดินทาง การเข้าโค้งต่างๆ ก็ถือว่าโอเคในความเร็วเดินทางของผู้ใช้รถปกติ โดยรวมแล้วใช้ได้ครับ

 

สุดท้ายต้องขอบคุณบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้ iAMCAR VARIETY e-MAGAZINE & www.iamcar.net ได้สัมผัสนวัตกรรมดีๆ เช่นนี้เสมอมาครับ