ค่าเสียเวลา ในยามที่รถเข้าอู่ เรียกร้องเอาจากใคร ได้ไหม

ขับรถอยู่ในเลนดีๆ จู่ๆ ก็มีรถคันอื่นมาชน แบบนี้เมื่อเคลียร์ประกันเรียบร้อยแล้ว โดยที่เราเป็น ฝ่ายถูก แต่เจ้ากรรม รถดันขับไม่ได้ ต้องลากเข้าอู่ซ่อมเดี๋ยวนั้น หรือไม่ก็ขับเข้าอู่ซ่อมวันรุ่งขึ้น งานนี้เกิดปัญหาแน่ เพราะเราจะไม่มีรถใช้ไปอีกหลายวัน ซึ่งระหว่างนี้ แทนที่จะได้ใช้รถ กลับต้องมานั่งแท็กซี่ หรือรถเมล์แทน แล้ว ค่าเสียเวลา ค่าเสียโอกาส ตรงนี้ จะมีใครรับผิดชอบให้เราไหม หรือเราจะไปเรียกร้องเอาจากใคร

ค่าเสียเวลา ค่าสียโอกาส ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม คือ

เชื่อได้ว่าหลายคนที่ใช้รถ แล้วเมื่อเกิดอุบัติเหตุ และเป็น ฝ่ายถูก ไม่เคยทราบมาก่อนว่า ค่าต่างๆ เหล่านี้มีด้วยเหรอ? แล้วถ้ามี เราจะไปเรียกร้องเอามาอย่างไร?
ภาษาประกันเรียกว่า ค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม คือ เงินชดเชยที่เราสามารถเรียกร้องเอาจากบริษัทประกันภัยรถยนต์ของคู่กรณี (เรียกร้องเอาได้เฉพาะเมื่อเราเป็นฝ่ายถูกเท่านั้น) โดยค่าขาดประโยชน์ที่ว่านี้ ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายเพื่อเดินทางไปทำงานตามปกติในชีวิตประจำวัน หมายถึงระหว่างที่เราไม่มีรถใช้ เราต้องนั่งแท็กซี่ไปทำงาน ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้เราสามารถยื่นเรื่องเพื่อให้บริษัทประกันของคู่กรณีจ่ายทดแทนการสูญเสียประโยชน์ตรงนี้ได้

เอกสารที่ต้องใช้เพื่อขอรับค่าเสียประโยชน์ตรงนี้

1. ใบเสนอรายการความเสียหายของรถเรา : ถ่ายเป็นสำเนาซึ่งจะต้องระบุวันที่เราติดต่อซ่อมรถกับอู่ เพราะประกันคู่กรณีจะได้ทราบว่าต้องจ่ายชดเชยเมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่

2. ใบเคลม : ใบนี้คงทราบกันดีว่าหน้าตาเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือ เราต้องเป็นฝ่ายถูกเท่านั้นนะ อย่ามั่วนิ่มในกรณีที่เป็นฝ่ายผิด มิเช่นนั้นจะหน้าแตก

3. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย : หน้าแรกของกรมธรรม์

4. สำเนาทะเบียนรถยนต์ : เล่มสมุดจดทะเบียนนั่นแหละครับ ชื่อ และกรรมสิทธิ์ควรตรงกับชื่อที่เป็นคนเรียกร้องค่าชดเชย

5. สำเนาใบขับขี่รถยนต์

6. ใบรับรถ : เมื่อรถซ่อมเสร็จแล้ว ทางอู่จะต้องออกใบส่งมอบรถ ที่สำคัญคือ ต้องระบุวันที่เข้าซ่อมจนถึงวันที่รับมอบ

7. รูปถ่ายระหว่างซ่อม : หากไม่มีเวลา ให้ขอเอาจากอู่ ให้เค้าถ่ายรูปไว้ เอาให้เห็นรูปรถเรา เห็นตรงแผลที่ซ่อม เห็นอู่ที่เราเข้าซ่อม เพื่อไว้ประกอบการพิจารณา

8. จดหมายเรียกร้องค่าขาดประโยชน์ระหว่างซ่อม : หนังสือ หรือแบบฟอร์มเพื่อเรียกร้องค่าชดเชยนั่นเอง เสิร์จเอาจากกูเกิ้ล หรือเขียนเป็นจดหมายขึ้นมาก็ได้ ระบุเรื่องราวที่เกิดขึ้น ระหว่างใครกับใคร และระบุการเรียกร้องค่าชดเชยระหว่างรอซ่อมว่ามีอะไร เมื่อไหร่ถึงเมื่อไหร่

9. หน้าบุ๊คแบ้งค์ : สมุดบัญชีธนาคาร ซึ่งเป็นบัญชีที่เราต้องการให้ประกันคู่กรณีโอนเงินค่าชดเชยให้

อาจจะเห็นว่าทำไม เอกสาร ดูเยอะแยะจัง เพราะเราต้องปิดช่องว่างให้หมดทุกช่องทาง เพื่อไม่ให้เกิดรูโหว่ที่บริษัทประกันจะมาหลีกเลี่ยงตรงนี้ไปได้ เมื่อทำการติดต่อกับประกันคู่กรณี ต้องจดชื่อ หมายเลขติดต่อ ขอผู้ที่รับเรื่องเราเอาไว้ด้วย (เรื่องมากหน่อยแต่ควรต้องละเอียดยิบ) สุดท้ายค่าชดเชยจากการสูญเสียประโยชน์จากการใช้รถ ขอให้ทำใจไว้เลยว่า ไม่มีทางได้เต็มจำนวน 100% อาจจะอยู่ที่ราวๆ 70-80% ซึ่งยังดีกว่าไม่ได้อะไรเลย ทั้งที่รถก็ถูกชน แถมยังต้องมาเสียตังค์ไปกับค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้ก่อขึ้น..จริงไหมล่ะ


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |