ความหมายของ “สีสัน” บน “ป้ายทะเบียนรถ” (License Plate)

หลายคนอาจจะไม่ได้สังเกต หรือ อาจจะสังเกตพร้อมกับตั้งคำถาม ว่าทำไมบรรดารถที่วิ่งอยู่บนท้องถนน มีแผ่นป้ายทะเบียนรถ (License Plate) ลักษณะแตกต่างกัน ฉะนั้นเราเลยจะมาเล่าให้ฟังว่าแต่ละ “สี” นั้นมีความหมายอย่างไรบ้าง

License Plate

เริ่มต้นจากสิ่งที่พบเห็นได้บ่อยๆ บนท้องถนน และคุ้นตากันอยู่อย่าง “ป้ายแดง” ซึ่งเป็นที่รู้กันแน่นอนว่า “รถใหม่” และป้ายทะเบียนที่ใช้ ก็คือ สิ่งที่ออกให้ทดแทน เพื่อใช้กับรถยนต์ที่ยังไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมาย ให้สามารถใช้งานบนถนนได้ชั่วคราว ภายใต้ข้อกำหนดของกรมการขนส่งทางบก

ตามมาด้วยป้ายที่เห็นกัน “เกลื่อน” อย่างเช่น “ป้ายสีขาวสะท้อนแสง” ซึ่งจะแบ่งหลักๆ ออกเป็น 3 ประเภท ประกอบด้วย “ป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ” ซึ่งหมายถึง ป้ายสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ไม่เกิน 7 ที่นั่ง ไม่ว่าจะเป็นรถเก๋ง, รถอเนกประสงค์ SUV หรือ PPV หรือรถกระบะ 4 ประตูก็ตาม

License Plate

ต่อมาคือ “ป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีน้ำเงิน” แบบนี้จะเป็นป้ายสำหรับรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เกิน 7 ที่นั่ง ซึ่งตัวอย่างรถที่เห็นง่ายที่สุด ก็คือ บรรดารถตู้ทั้งหลายนั่นเอง

สุดท้ายก็คือ “ป้ายสีขาวสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีเขียว” สำหรับรถบรรทุกส่วนบุคคลล เช่น รถกระบะ หรือรถบรรทุกขนาดเล็ก โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อใช้ในการบรรทุกเท่านั้น

License Plate

ไปต่อกันที่ “ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง” ซึ่งเป็นโทนสีที่บ่งบอกสถานะของรถเพื่อการพาณิชย์ และจะแบ่งออกเป็น 4 ประเภท เริ่มจาก ป้ายสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ” คือ ป้ายสำหรับรถยนต์ และรถจักรยานยนต์รับจ้างไม่เกิน 7 ที่นั่ง เช่น แท็กซี่ หรือ มอเตอร์ไซค์รับจ้าง

License Plate

นอกจากนี้ก็ยังมี “ป้ายทะเบียนสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวอักษรสีน้ำเงิน” ให้เห็นบ้าง โดยเฉพาะตามตอกซอกซอยต่างๆ ที่มี “รถ 4 ล้อเล็ก” หรือที่เรียกว่าภาษาบ้านๆ ว่า “รถกะป๊อ” รวมไปถึง “ป้ายทะเบียนสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวอักษรสีเขียว” ที่นานๆ ครั้งจะได้เห็นกัน เนื่องจากอนุญาตให้ใช้เฉพาะ รถ 3 ล้อ หรือที่บ้านเราเรียกว่า “รถตุ๊กตุ๊ก”

License Plate

และสุดท้ายกับ “ป้ายทะเบียนสีเหลืองสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีแดง” ที่อาจจะได้เห็นกันไม่บ่อยนัก เพราะเป็นรถยนต์รับจ้างแบบบรรทุกคนโดยสารไม่เกิน 7 คน ในระหว่างจังหวัด

License Plate

ตลอดจนอีกหนึ่งสีที่อาจจะเห็นได้ไม่บ่อยเช่นกันก็คือ “ป้ายสีส้มสะท้อนแสง ตัวหนังสือสีดำ” ซึ่งเป็นป้ายทะเบียนที่ใช้สำหรับรถทางการเกษตรกรรม หรืองานก่อสร้าง เช่น รถแทรกเตอร์ หรือรถเกลี่ยดิน เป็นต้น

License Plate

ขณะที่ “ป้ายทะเบียนสีเขียวสะท้อนแสง ตัวอักษรเป็นสีขาว หรือสีดำ” นั้นหลายคนอาจจะคุ้นเคย คุ้นตากันดี กับรถบรรทุกผู้โดยสาร หรือให้เช่ากึ่งบรรทุกโดยสารไม่เกิน 7 คน ซึ่งจะแบ่งเป็น 3 ประเภทด้วยกัน ประกอบด้วยแบบที่คุ้นเคย คือ บริการธุรกิจผู้โดยสารตามสถานีขนส่งต่างๆ เช่น ท่าอากาศยาน, ท่าเรือเดินทะเล, สถานีรถไฟ รวมถึงโรงแรมที่พักอาศัย หรือที่ทำการผู้บริการธุรกิจ หรือที่เรารู้จักในแบบที่เรียกว่า แท็กซี่แบบลีมูซีนไม่ว่าจะเป็นโรงแรม หรือ สนามบิน นั่นเอง ขณะที่อีกรูปแบบจะเป็นรถยนต์บริการทัศนาจร จากผู้ประกอบธุรกิจการท่องเที่ยว และรูปแบบสุดท้ายก็คือ รถยนต์บริการให้เช่า ที่ไม่ใช่เป็นการเช่า เพื่อใช้ไปรับจ้างโดยสาร หรือสิ่งของ

License Plate

นอกจากนี้ยังมี “ป้ายพิเศษ” ที่เราเชื่อว่าคงผ่านตากันมาบ้างไม่มากก็น้อยกับ “ป้ายทะเบียนสีขาวไม่สะท้อนแสง  ตัวอักษรเป็นสีดำ” ที่มีความแตกต่างจากป้ายประเภทอื่น เพราะเป็น “ป้ายทะเบียนรถยนต์ของคณะผู้แทนทางการทูต” โดยสังเกตว่าจะมีตัวอักษร “ท” อยู่ด้านบนตัวเลขที่เป็นรหัสประเทศ ตามด้วย “ขีดกลาง” ก่อนที่จะเป็นเลขทะเบียนรถ

แล้วก็ยังมีป้ายทะเบียนในลักษณะเดียวกัน แต่คนละโทนสีอีกด้วย คือ “ป้ายทะเบียนสีฟ้าไม่สะท้อนแสง  ตัวอักษรเป็นสีขาว” ขณะที่ตัวอักษรด้านบนรหัสประเทศจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ อักษร “ก” หมายถึง “คณะผู้แทนกงศุล”, อักษร “พ” หมายถึง “หน่วยงานพิเศษในสถานทูต” และ อักษร “อ” ที่หมายถึง “องค์กรระหว่างประเทศ”

License Plate

สุดท้ายก็คือ “ป้ายทะเบียน” สวยงามที่มาพร้อมกับ “พื้นหลังลวดลายกราฟฟิก” ที่เรามักจะเห็นคู่กับรถหรูเป็นประจำ ซึ่งไม่ต้องบอกก็น่าจะรู้กันเป็นอย่างดีว่าเป็น ทะเบียนที่มี “มูลค่า” ซึ่งได้มาจากการประมูลตัวเลขชุดพิเศษ นั่นเอง

แท็กฮิต :