รถญี่ปุ่นมหา’ลัย หรือจะไปอนุบาลรถยุโรปดี

เคยมั้ยเมื่อเงินในกระเป๋าคุณ มันก้ำกึ่งๆ ว่าจะยังคงเล่นรถญี่ปุ่นคันใหญ่ค่อนข้างหรู กับการข้ามห้วยไปเลือกรถยุโรปที่แม้เป็นเพียงตัวเริ่มต้น แต่ก็ได้ชื่อว่าขับรถยุโรปนะเฟ้ย…เอาล่ะสิ!! ในเมื่อเงินที่มีอยู่ กับทางเดินข้างหน้าที่มีให้เลือกสองแพร่ง ไม่รู้เหมือนกันว่าจะเดินไปทางไหนดี ต่อไปนี้อาจเป็นตัวช่วยในการค้นหาทางออกในความลังเลของคุณได้ไม่มากก็น้อย

ท้อปปิคนี้มันมาจากเพื่อนฝูงคนนึงที่ใช้รถซีดานญี่ปุ่นขนาดใหญ่ยี่ห้อนึง ซึ่งก็ชอบ และใช้ดีไม่มีปัญหา แต่วันนึงอยากเปลี่ยนรถขึ้นมา โดยที่รถคันนี้ถือเป็นรถประจำตำแหน่งด้วย เมื่อเมียงมองตามงานโชว์รถใน ก็ค้นพบว่า ในงบประมาณที่มีอยู่ ช่วง 2 ล้านบวก-ลบ มีทั้งรถญี่ปุ่นคันใหญ่แบบเดิมๆ ที่เคยใช้ กับรถยุโรปราว 2-3 ยี่ห้อที่เข้าตา เราเลยนำพาแง่คิดให้ช่วยตัดสินใจ

 

จะไปทางไหนรถญี่ปุ่นมหา’ลัย หรืออนุบาลรถยุโรป

♦ ในบรรดารถญี่ปุ่นระดับมหา’ลัย กับงบที่กล่าวไปตอนต้น ตัวเลือกที่เห็นก็คงมี โตโยต้า คัมรี่, ฮอนด้า แอคคอร์ด, นิสสัน เทียน่า ส่วนรถยุโรปที่เอามาเป็นตัวเปรียบเทียบจากหัวข้อข้างต้นที่กล่าวถึง จะมี BMW X1, Mercedes benz GLA, Volvo V40

♦ ถ้าเป็นคนขี้อึดอัด อนุบาลยุโรป คงตอบโจทย์ไม่ได้แน่ๆ เพราะญี่ปุ่นมหา’ลัย ให้ความกว้างขวาง สบาย ไปไหนมาไหนเกิน 4 คนไม่มีเสียงบ่นแน่นอน

♦ เดินทางไกล ถ้าเป็นมหา’ลัยญี่ปุ่นข้างต้น ได้เปรียบเรื่องความสบาย นุ่มนวล คลายความเมื่อยล้ากว่า อนุบาลยุโรปเล็กน้อย ด้วยขนาดความกว้างของตัวถัง แต่อนุบาลยุโรปจะได้ความมั่นใจเรื่องการควบคุมกว่าเล็กน้อย..ข้อนี้ถือว่าสูสี

♦ถ้าออปชั่นที่ติดรถมา มีผลต่อการตัดสินใจซื้อรถสักคัน ขอให้ข้ามอนุบาลยุโรปไปก่อน เพราะตรงจุดนี้ งบประมาณอย่างที่ว่าไปตอนต้น มหา’ลัยญี่ปุ่นนี่ให้มาครบจนแทบไม่รู้จะหาอะไรมาใส่เพิ่มแล้ว

♦จากข้อเมื่อกี๊ ถ้าเป็นอนุบาลยุโรป คุณแทบจะได้แต่ตัวรถ และยี่ห้อเท่านั้น ยกเว้นวอลโว่ V40 ที่จัดว่าให้ออปชั่นมาเยอะ- ด้านสมรรถนะไม่ว่าจะญี่ปุ่นหรือยุโรปดังที่กล่าว ต้องเรียกว่าไม่ด้อย แต่อนุบาลยุโรปดูจะได้เปรียบกว่าหน่อยๆ ทั้งการตอบสนองของเครื่องยนต์ และการควบคุม

♦ถ้าแคร์สายตาคนรอบข้างอย่างเอาใครมาฉุดก็ไม่อยู่ ขอให้ไปทางอนุบาลยุโรป เพราะจะมีคนเหลียวมองรถคุณมากกว่า และการขับไปจอดที่ไหนคุณจะได้รับการยอมรับที่มากกว่า

♦ ศูนย์บริการมีเยอะแยะ อะไหล่มีเพียบ รอไม่นาน จุกจิกน้อยให้มองมหา’ลัยญี่ปุ่น ส่วนการบริการอันนี้ค่อนข้างสูสี

♦ ความจุกจิก ความแพงของอะไหล่ และการซ่อมบำรุง มีให้ปวดหัวกว่าแน่นอนถ้าหันไปอนุบาลยุโรป ไม่เช่นนั้นเราคงไม่ได้เห็นโปรแกรม BSI จาก BMW เป็นแน่ ถ้าได้รับประกันการซ่อมบำรุง(กี่ปีก็ว่าไป) ให้เอียงมาทางยุโรปได้เลย

ลองชั่ง ตวง วัด จากทุกข้อดูก่อนแล้วกันว่าจะตัดสินใจไปทางไหน อย่างกรณีนี้ ถ้าเป็นรถประจำตำแหน่ง ค่าใช้จ่ายในการดูแลคงไม่กระเทือนซาง(มั้ง) แต่หากต้องควักกระเป๋าเอง ก็บาล้านซ์ให้ดีๆ ว่าจะเลือกให้น้ำหนักตรงส่วนไหนมากกว่ากัน

แท็กยี่ห้อรถยนต์ : BMWHondaMercedes BenzNissanToyotaVolvo