รีวิว : Honda Brio Amaze ( ฮอนด้า บริโอ้ อเมซ ) นำร่องพา HONDA BRIO AMAZE Check In ทั่วไทย

บทพิสูจน์ที่ตอบทุกข้อสงสัยใน Honda Brio Amaze ( ฮอนด้า บริโอ้ อเมซ ) กิจกรรมในครั้งนี้ทางบริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จํากัด สร้างปรากฎการณ์หน้าใหม่ให้กับ ECO Car นำร่องพา HONDA BRIO AMAZE Check In ทั่วไทย พิสูจน์อัตราความประหยัดที่ดีกว่ามาตรฐานกำหนด ทุกเส้นทางในประเทศไทย รวมระยะทาง 5,290 กม. ใช้เวลาการเดินทางทั้งหมด 7 วัน

 

Honda Brio Amaze

บทพิสูจน์หน้านี้ของ HONDA เป็นความท้าทายที่น่าสนใจ ด้วยคำถามมากมายจากผู้บริโภคว่า รถอย่าง BRIO AMAZE มีเครื่องยนต์เพียง 1.2 ลิตร จะสามารถเดินทางไกลได้จริงหรือ ขึ้นเขาไหวหรือไม่ เดินทางเป็นพันๆ กิโลเมตรไม่พังก่อนเหรอ ฯลฯ กิจกรรมครั้งนี้เลยเป็นการตอบคำถามที่ดีให้กับผู้บริโภคให้มีความมั่นใจว่า BRIO AMAZE สามารถพาคุณไปได้ทุกที่ ในครั้งนี้ทาง HONDA เชิญสื่อมวลชนแถวหน้าของเมืองไทย 42 ท่าน ที่มีความสามารถทั้งในด้านการขับประหยัดน้ำมัน ด้านการขับขี่แบบ Racing และ Tester มืออาชีพ มาผสมรวมกันแบ่งออกมาเป็น 7 ทีมทีมละ 6 ท่าน เพื่อแบ่งระยะทางการขับเป็น 3 ช่วง โดยใช้รถ 1 คันใน 1 ทีม เพราะ BRIO AMAZE สามารถไปไหวแน่นอน แต่คนขับจะไหวหรือไม่นั้น ผมไม่แน่ใจ ทางฮอนด้าจึงแบ่งช่วงกันขับของแต่ละท่านในทีม

 

 

วันแรกเป้าหมาย จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงราย

วันแรกของกิจกรรมเริ่มต้นกันที่ศูนย์ฝึกอบรมฮอนด้าบางชันกันแต่เช้า หลังจากที่แบ่งทีมเรียบร้อยแล้ว คุณพิทักษ์ พฤทธิสาริกร รองประธานอาวุโส บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จำกัด ให้เกียรติมากล่าวต้อนรับและปล่อยตัว ในวันแรกเป้าหมาย คือ จากกรุงเทพฯ ถึงเชียงราย ระยะทาง 833 กม. โดยในช่วงเช้าเป็นการขับแบบประหยัดน้ำมันในระยะทาง 350 กม. มีเวลาให้ 5 ชม. หลังจากทีมเราวางแผนกันในช่วงแรก โดยตกลงกันไว้ว่าจะใช้ความเร็วคงที่ 80 กม./ชม. เพราะต้องเผื่อเวลารถติดในการออกนอกเมือง เนื่องจากเป็นช่วงเช้าที่มีการจราจรติดขัด แม้ BRIO AMAZE จะเป็นรถที่ผมเคยสัมผัสมาแล้ว แต่ก็เป็นการใช้งานในชีวิตประจำวันปกติ ซึ่งก็มีอัตราความประหยัดอยู่ที่ 20 กว่ากม./ลิตร แต่ครั้งนี้ในใจผม หวังไว้ว่าอยากจะทำให้ได้เกิน 30 กม./ลิตร เพราะเคยทำได้ 34 กม./ลิตร ในรุ่น BRIO ซึ่งมีน้ำหนักเบากว่า หลังจากที่พ้นรถติดออกมา เราใช้ความเร็ว 80 กม./ชม.ในการเดินทาง ขับแบบเรื่อยๆ เน้นที่ความเร็วคงที่ และไปให้ความสนใจกับอุปกรณ์ที่ให้มาในรถมากกว่าเพราะอยากรู้ว่า “สมการความสุข” จะเกิดขึ้นกับผมจริงหรือไม่ เรื่องความกว้างขวางของห้องโดยสาร Limousine Style เป็นข้อเด่นที่ต้องยกให้ ความสามารถของทีมออกแบบฮอนด้า ที่สามารถทำรถ Eco Car ที่มีขนาดเล็ก มีพื้นที่ใช้สอยภายในกว้างขวางมากอย่างน่าแปลกใจ มาที่พวงมาลัยสามารถปรับสูง-ต่ำได้ตามความเหมาะสมของผู้ขับขี่ ที่มาตรวัดนอกจากจะออกแบบมาในสไตลล์สปอร์ต และยังซ่อนจอดิจิตอลที่สามารถบอกระยะทางรวม ระยะทางทริป และมาตรวัดแสดงอัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง แถมที่ด้านขวาของเรือนไมล์ยังมีไฟ ECO สีเขียว (Eco Indicator) ที่คอยแสดงผลให้คุณทราบว่าการขับขี่ของคุณอยู่ในโหมดที่ประหยัดหรือไม่ และเป็นการฝึกคุณ ไปในตัวว่าคุณควรจะใช้คันเร่งขนาดไหนที่จะประหยัดน้ำมันสูงสุด

 

อัตราการใช้น้ำมัน

ผ่านมา 200 กม. อัตราการใช้น้ำมันที่ดูจากมาตรวัดอยู่ 33.1 กม./ลิตร ซึ่งก็น่าพอใจมาก แล้วเวลาของผมก็ยังเหลืออีกเยอะ จึงลดความเร็วลงมาเหลือที่ 70 กม./ชม. เพื่อให้ได้อัตราการใช้น้ำมันที่ดีขึ้นไปอีก แต่พอขับนานๆ ก็เริ่มเบื่อมาเล่นกับความบันเทิงบ้างดีกว่า เพราะเพื่อนร่วมทีมของผมกำลังมุ่งมั่นกับการทำภารกิจที่เป็นเป็นเอกลักษณ์ของฮอนด้า ไม่ว่าคุณจะขับเร็วหรือช้าจะต้องทำกิจกรรมร่วมไปด้วย แล้วครั้งนี้ก็เป็น Gimmick ที่น่ารักเหมาะกับ BRIO AMAZE อย่างมาก คือ ถ่ายรูปสถานที่สำคัญร่วมกับ รถ BRIO AMAZE ในจังหวัดที่ขับผ่าน พร้อม Check In บน Facebook โอ้…เพื่อนร่วมทีมของผมจึงไม่ค่อยมีเวลาจะคุยกับผมสักเท่าไร บนความบันเทิงที่อยู่ตรงคอนโซลกลางที่ออกแบบ built in เรียบๆ ใช้งานง่ายๆ มีเครื่องเสียงแบบ 2 Din มีช่องเสียบ AUX สำหรับอุปกรณ์ต่อพ่วง แต่ผมชอบใช้ USB มากกว่าเพราะสามารถเสียบกับ iPHONE ฟังเพลงที่ผมชอบอย่างสบายใจ แถมยังเป็นการชาร์ทแบตไปในตัวด้วย

เครื่องยนต์

ไม่นานทีมของผมก็ถึงจุดเช็คอัตราการสิ้นเปลืองปรากฎว่า ทีมเราทำได้ 33.8 กม./ลิตร แต่ว่าเกิดความผิดพลาดระหว่างเดินทางของผม ดันไปกด Clear หน้าจอ Trip A ซึ่งเป็นการวัดระยะทางที่เราวิ่งจึงไม่ตรงกับที่กำหนด จึงต้องถูกตัดการคำนวณน้ำมันไป 5 กม./ลิตร ซึ่งเป็นการตัดสินที่ถูกต้องครับ ทำให้ทีมเราจากที่ 1 มาเป็นที่สุดท้ายพอดี เพราะทีมอื่นๆ ทำได้ดีมากเฉลี่ย 30 กม./ลิตรทั้งนั้น หลังจากพักเหนื่อยทานอาหารเที่ยง เราต้องเดินทางต่ออีก 483 กม. แต่มีข้อกำหนดเล็กๆ ต้องไปถ่ายรูปที่วัดร่องขุน จ.เชียงราย ก่อนพระอาทิตย์ตก ผมจึงต้องเปลี่ยนสไตล์การขับมาใช้แบบที่ถนัด ความเร็วที่ใช้จะเปลี่ยนเป็น 130 -145 กม./ชม. จุดนี้เป็นบทพิสูจน์อีกข้อ คือ ถ้าเราวิ่งรอบสูงๆ ตลอดเวลาในระยะทางต่อเนื่องเกือบห้าร้อยกิโลเมตร เครื่องยนต์จะมีอาการอย่างไร ความเร้าใจของเส้นทาง กับเวลาที่มีจำกัดเพียง 4 ชม.ครึ่ง ทำให้ผมจะต้องเดินทางแบบ Racing ซึ่งในความเร็ว 145 กม./ชม. บนทาง High Way ไม่ได้เป็นปัญหากับ Amaze แน่ๆ การยึดเกาะในความเร็วสูงไว้ใจได้ และที่เกินคาด คือ ความนิ่มนวลในการเดินทางมากกว่า ปกติแล้วรถที่ไม่สมบรูณ์ในการออกแบบมักจะมีปัญหาความร้อนสะสม เสียงเครื่องยนต์จะเปลี่ยน จังหวะการเปลี่ยนเกียร์จะเพี้ยนๆ แต่ BRIO Amaze ไม่ทำให้เราผิดหวัง มาจอดหน้าวัดร่องขุนเตรียมพร้อมถ่ายรูปแบบหล่อๆ ทั้ง 7 คันอย่างรวดเร็ว เสร็จภารกิจในวันแรกแบบสุขกาย อิ่มใจ กับภาพพระอาทิตย์ตกสวยๆ ของเมืองเจียงฮายเจ้า อีกส่วนที่ทำให้เรากล้าที่จะใช้ความเร็วสูงมากในการเดินทางขนาดนี้ คือ ความปลอดภัยของตัวรถที่มีมาให้ทั้งถุงลมอัจฉริยะด้านคนขับ i-SRS ถุงลมด้านผู้โดยสารด้านหน้า SRS และเข็มขัดนิรภัยแบบดึงกลับอัตโนมัติที่คอยปกป้องเราหากเกิดเหตุสุดวิสัย

 

วันที่สองของจากเชียงราย – อุดรธานี

ตื่นแต่เช้าเช่นเดิมร่างกายพร้อมขับ iPHONE พร้อม Check In ส่วน BRIO AMAZE เค้าพร้อมตั้งแต่ออกจากโรงงานคงไม่ต้องเช็คอะไร วันที่สองของผมจากเชียงราย – อุดรธานี ระยะทางรวม 775 กม. ซึ่งในเส้นทางน่าหนักใจมากๆ เพราะเป็นทางขึ้น – ลงภูเขา ถนนสองเลน รถบรรทุกเยอะ แถมในช่วงเช้าเป็นช่วงการขับประหยัดน้ำมันอีกด้วย แม้จะมีระยะทาง 264 กม. กับเวลา 3 ชม.ครึ่ง ดูเหมือนไม่ยากที่จะทำอัตราความประหยัดออกมาดี แต่อย่างที่บอกว่าทางขึ้นลงเขาตลอด แถมต้องแซงรถบรรทุกที่วิ่งด้วยความเร็วต่ำมากๆ ด้วย ในช่วงแรกของการแข่งจากเชียงรายมา จ.พะเยา เส้นทางยังเป็น High Way ขับสบายๆ เราสามารถทำตัวเลขบนหน้าจอออกมา 32 กม./ลิตรสบายๆ เพราะผมเองได้เรียนรู้วิธีการขับจากวันแรกมาแล้ว เน้นที่ความเร็วคงที่ มองที่ไฟ ECO สีเขียวเป็นหลัก พยายามใช้คันเร่งให้เหมาะสม ให้ไฟ ECO โชว์อยู่ตลอดเวลาในทางตรงๆ 30 กม./ลิตรทำได้สบาย แต่พอผ่านจังหวัดพะเยาเราต้องมาใช้เส้นทางสายรอง ซึ่งเป็นสองเลน ต้องหยุดด่านตรวจอีก 5-6 ด่าน แถมระหว่างทางมีรถบรรทุกพลิกคว่ำอีก เส้นทางขึ้น – ลงเขา ทำให้อัตราน้ำมันเริ่มจะแปรผันมาอยู่ที่ 28 กม./ลิตร

 

หลังจากผ่านอุปสรรคมากมายระยะทางเหลืออีก 120 กม. แต่เวลาของผมเหลือเพียง 1 ชม. จึงต้องปรับรูปแบบการขับเป็นแบบเร็วและต้องประหยัดด้วย เทคนิคไม่ยากเบรกให้น้อย ค่อยๆ ไล่ความเร็วขึ้นไป คงความเร็วไว้ที่ 135 กม./ชม. แต่อุปสรรคยังไม่หมดมีไฟแดงค่อนข้างมาก ทำให้ 40 กม.สุดท้ายต้องใช้ความเร็วที่ 145 กม./ชม. เพื่อให้เข้าเส้นชัยในเวลาที่กำหนด เราทำได้ดีที่สุด คือ มาช้ากว่าเวลากำหนดไป 3 นาที ซึ่งจะต้องโดนตัดแต้มแน่นอน แต่ความประทับใจกลับอยู่ตรงที่ BRIO AMAZE วิ่งด้วยความเร็วขนาดนั้นยังสามารถประหยัดได้ถึง 24.4 กม./ลิตร สุดยอดครับ แถมยังทำให้ผมมีคะแนนเป็นที่ 1 ในวันที่ 2 จึงทำให้ผมสามารถทราบว่าเพียงคุณรู้จักเรียนรู้การขับจาก Eco Indicator ไม่ว่าขับเร็วหรือช้าความประหยัดจาก BRIO AMAZE จะเกิดขึ้นได้ในทุกๆ ย่านความเร็ว

ระบบส่งกำลัง

หลังจากทานอาหารเที่ยงเสร็จ ระยะทางเหลืออีก 511 กม. แถมมีเวลาบีบเข้ามาอีก เพราะเราต้องกลับไปขึ้นเครื่องที่สนามบินจังหวัดอุดรธานี จึงมีเวลาเหลือเพียง 5 ชม. แน่นอนครับนอกจากจะต้องใช้ความอึดของเครื่องยนต์ 1.2 ลิตร แบบ 4 สูบ SOHC 16 วาล์ว i-VTEC ที่มีแรงม้าอยู่ 90 แรงม้ากับแรงบิด 110 นิวตัน-เมตร ระบบส่งกำลังแบบ CVT ที่ให้ความนุ่มนวลกับผมตลอดเส้นทาง แต่ในเส้นทางนี้ผมต้องผ่านอุทยานแห่งชาติน้ำหนาว จ. ชัยภูมิ ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเส้นทางที่สวยงามมาก แต่โค้งต่างๆ ก็อันตรายมากไม่มีขอบทางกั้น คุณพลาดเมื่อไรตกเขาทันที แถมเรายังต้องไปด้วยความเร็วอีก จึงเป็นบทพิสูจน์อันดีของช่วงล่างแม็กฟอร์สัน สตรัท อิสระ พร้อมเหล็กกันโคลงในด้านหน้า ทอร์ชั่นบีบแบบ H-shape ในด้านหลัง เรื่องการควบคุมในทางโค้งทำได้อย่างไม่ยาก พวงมาลัยตอบสนองแม่นยำ แต่ในการขับรถแบบนี้คุณอาจจะต้องใช้ทักษะในการขับขี่แบบสปอร์ตเพิ่มเข้าไปสักหน่อย เพราะหน้ายางมีขนาดเล็ก เพราะเป็นรถ ECO CAR ซึ่งต้องการความประหยัดมากกว่าที่จะมาขับเร็วๆ แบบนี้ แต่ BRIO AMAZE ทุกๆ คันในขบวนก็ผ่านไปได้ด้วยดี หลังผ่านจุดนี้มา เราทำความเร็วยืนพื้นกับที่ 140 กม./ชม. ทุกคัน เพื่อให้ทันเวลา แล้วก็ไม่ผิดหวังทุกๆ คันสามารถมาตรงตามเวลาที่กำหนด หลังจากนั้นถึงเวลาที่ผม ต้องส่งกุญแจให้เพื่อนๆ ในทีมขับต่อ ความรู้สึกของผมที่ขับมา 1,608 กม.ในเวลา 2 วันคือ “ประทับใจกับสมรรถนะทั้งด้านความประหยัด สมรรถนะความอึดของเครื่องยนต์และระบบส่งกำลัง ระหว่างการขับขี่ ที่สำคัญความเหนื่อยเมื่อยล้าในการขับรถนานๆ ไม่เกิดอีกด้วย ลงจากรถมาสบายๆ ครับ”

 

ขับจากอุดรธานี – อุบลราชธานี

หมดหน้าที่ของผมแล้ว เป็นหน้าของเพื่อนร่วมทีมที่จะต้องขับจากอุดรธานี – อุบลราชธานี ระยะทาง 643 กม. โดยใช้การแข่งขันช่วงประหยัดน้ำมัน 370 กม. ทีมที่สามารถประหยัดน้ำมันได้เป็นอันดับที่ 1 สามารถทำได้ 30.82 กม./ลิตร เช้าวันรุ่งขึ้นเป็นการขับจากอุบลราชธานี – ตราดระยะทาง 724 กม. โดยใช้ช่วงการแข่งขันประหยัดน้ำมัน 287 กม. ทีมที่สามารถประหยัดน้ำมันได้เป็นอันดับที่ 1 สามารถทำได้ 32.1 กม./ลิตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่สวยงามมาก จากนั้นเช้าวันรุ่งขึ้นต้องขับกลับกรุงเทพฯ เพื่อมาเปลี่ยนกับเพื่อนที่ขับต่อในช่วงท้ายลงไปที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 633 กม. โดยในวันนี้ไม่มีการแข่งขันประหยัดน้ำมัน

การขับแข่งขันประหยัด

ในที่สุด 2 วันสุดท้ายของทริปก็เริ่มต้นขึ้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อขับต่อไปที่สงขลา เริ่มต้นขึ้นโดยการขับแข่งขันประหยัดเป็นระยะทาง 309 กม. ในเส้นทางนี้น่าจะเป็นเส้นทางที่สามารถเรียกตัวเลขความประหยัดออกมาได้อย่างสวยงาม เพราะเป็นทางตรงเรียบๆ ไม่มีเนินเขา แต่ตัวเลขความประหยัดก็ออกมางดงาม 33.1 กม./ลิตรสำหรับอันดับที่ 1 แต่ยังเหลือระยะทางอีก 398 กม.ที่ต้องขับแบบ High Speed ไปพักผ่อนกันที่สงขลา วันสุดท้ายของทริปก็เริ่มขึ้น BRIO AMAZE ทุกคันพร้อมเช่นเดิม ไม่มีการ Service รถแม้แต่คันเดียว ทางทีมงาน PR HONDA มั่นใจในตัวรถมากๆ ไม่มีการพาทีม Service ติดตามมาด้วยแม้แต่ท่านเดียว วันสุดท้ายระยะทาง 975 กม. ทุกอย่างเตรียมพร้อมเพื่อพิสูจน์ความประหยัดกันก่อนด้วยระยะทาง 322 กม. แต่เส้นทางมีทั้งฝนตกและทางขึ้นเนินอยู่ไม่น้อยทำให้อันดับที่ 1 ทำตัวเลขความประหยัดออกมาที่ 30.7 กม./ลิตร หลังจากภารกิจความประหยัดจบลง ทุกท่านตั้งหน้าตั้งตามุ่งหน้าสู่กรุงเทพๆ ด้วยความเร็วสูงเพราะคงจะคิดถึงบ้านกันแล้ว จบภารกิจด้วยความปลอดภัยทุกคัน

ชัดเจนแล้วสำหรับบทพิสูจน์หน้านี้ของ BRIO AMAZE เส้นทางทั่วไทย 5,290 กม. อุปสรรคสารพันกับระยะทางอันแสนสุดหฤโหดสำหรับ Eco Car ซึ่งไม่ได้เป็นปัญหาสำหรับ BRIO AMAZE เลย แม้คุณจะใช้ความเร็วสูงในการเดินทาง ที่สำคัญตัวเลขความประหยัดเกิน 30 กม./ลิตร ที่ทุกๆ คันสามารถทำได้จริง และบทพิสูจน์นี้คงจะตอบโจทย์คุณได้แล้วสำหรับการเลือกใช้ ECO CAR คันต่อไปของคุณ ขอขอบคุณ บริษัท ฮอนด้า ออโตโมบิล (ประเทศไทย) จํากัด ที่ให้ iAMCAR สัมผัสสมการความสุขในครั้งนี้ครับ

แท็กยี่ห้อรถยนต์ : Honda

แท็กฮิต : , , , ,