รู้ไว้ก็ดี เรื่องของ “สี” น้ำมันเครื่อง (Engine Oil)

“น้ำมันเครื่อง” (Engine Oil) เรียกได้ว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญสำหรับ “เครื่องยนต์” ซึ่งเราเชื่อว่าผู้ใช้รถหลายคนนั้นทราบหน้าที่ หรือ ลักษณะของมันดี แต่ถ้า “ไม่” เราจะย้ำให้อีกที

คุณสมบัติหลักๆ ของ “น้ำมันเครื่อง” ก็คือ “การหล่อลื่นชิ้นส่วนภายในเครื่องยนต์” เพื่อลดแรงเสียดทาน และทำให้เครื่องยนต์มีอายุการใช้งานยาวนานขึ้น ตลอดจนเรื่องของ “การระบายความร้อน” ซึ่งน้ำมันเครื่องจะเข้าไปช่วยดูดซับความร้อน และควบคุมอุณหภูมิของเครื่องยนต์ให้เหมาะสม ตามด้วย “การชะล้างทำความสะอาด” เพราะเมื่อเครื่องยนต์ทำงานจะก่อให้เกิดสิ่งสกปรก หรือเขม่าตกค้างจากการเผาไหม้ ซึ่งน้ำมันเครื่องจึงต้องเข้าไปชะล้างสิ่งสกปรกทั้งหลาย ทั้งยังรวมถึง “การป้องกันการกัดกร่อนจากสนิม และกรด” ด้วยการทำตัวเป็นเกราะเคลือบผิวชิ้นส่วนของเครื่องยนต์นั่นเอง

Engine Oil

ซึ่งโดยทั่วไป ที่มีจำหน่ายในท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 3 ประเภทตามชนิดของน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน คือ น้ำมันเครื่องธรรมดา, น้ำมันเครื่องกึ่งสังเคราะห์ (Semi-Synthetic) และน้ำมันเครื่องสังเคราะห์ (Fully Synthetic) โดยมีชนิดของความหนืดให้เลือก จากชุดตัวเลขที่เราเห็นกันหน้ากล่อง หรือ หน้าขวดผลิตภัณฑ์ เช่น 5W-40, 10W-30, 15W-40, 20W-50 ที่เราควรเลือกใช้ให้ถูกจริตกับรถ

ส่วนลักษณะปกติของ “น้ำมันเครื่อง” ใหม่ๆ ซิงๆ หลังจากเปิดฝาออกมา โทนสีของตัวน้ำมันจะออกเป็นสีเหลืองอำพัน สวยๆ ใสๆ และจะเปลี่ยนสีเป็นเข้มขึ้น ถ้าลองชักก้านวัดน้ำมันเครื่องมาดูบ่อยๆ จนกระทั่งกลายเป็นสีดำคล้ำ หลังจากผ่านการใช้งานตามค่าเฉลี่ยอายุการใช้งานของน้ำมันเครื่องแต่ละประเภท เพื่อให้เราเปลี่ยนถ่ายของใหม่เข้าไป เพื่อฟื้นฟูประสิทธิภาพให้กับเครื่องยนต์

Engine Oil

แต่หากความซวยมาถึง ขับๆ อยู่แล้วความร้อนขึ้น น้ำหายหาไม่เจอ แถมดึงก้านวัดน้ำมันเครื่องออกมาแล้ว “สีแปลกๆ” ไม่เทา ไม่ดำ กลับกลายเป็น “สีคล้ายๆ กาแฟใส่นม” ล่ะก็ บอกเลยว่า “งานเข้า” ครับ เพราะงานนี้มี “น้ำ” เข้าไปผสมกับ “น้ำมันเครื่อง” เรียบร้อย

และเราแนะนำให้รีบหาศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็คความเสียหายที่เกิดขึ้นทันที ไม่ควรฝีนใช้รถต่อไป เพราะการที่ “น้ำ” เข้าไปผสมกับ “น้ำมันเครื่อง” ไม่ว่าจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตาม ผลลัพธ์ก็คือคุณสมบัติของน้ำมันเครื่องที่ว่ามาข้างต้น จะด้อยลงอย่างมาก ซึ่งถ้าหากไม่รีบซ่อมแซม นับรองว่ามันอาจจะส่งผลให้เครื่องยนต์ของรถคุณเสียหายหนักได้แน่นอน

Engine Oil

แท็กฮิต : , ,