ตัวเลขบน ฝาหม้อน้ำ แตกต่างกันอย่างไร รถบ้านควรใช้แบบไหน

เป็นความสงสัย และความเชื่อที่ถูกบ้าง ผิดบ้าง ปะปนกันไป ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายคนยังคงตั้งคำถามแต่ไหนแต่ไร จวบจนกระทั่งทุกวันนี้ เกี่ยวกับตัวเลขบน ฝาหม้อน้ำ ว่าแตกต่างกันอย่างไร แล้วต้องใช้แบบไหนดี โดยเฉพาะรถบ้านๆ ใช้งานอย่างเราๆ

ก่อนจะไปดูว่า ตัวเลขบน ฝาหม้อน้ำ มีความแตกต่าง และใช้งานอย่างไรให้ตรงกับความต้องการนั้น คงต้องอรรถาธิบายถึง การทำงานของระบบหล่อเย็นกันเล็กน้อย เพื่อความเข้าใจ และจะได้ใช้เลือกใช้ฝาหม้อน้ำได้อย่างถูกต้อง

ในระบบหล่อเย็นของรถยนต์นั้น เป็นระบบปิด อุณหภูมิการทำงานในระบบจะอยู่ที่ราว 80 – 90 กว่าองศาเซลเซียส แล้วแต่การออกแบบของรถยนต์แต่ละรุ่น โดยที่ระบบจะรักษาอุณหภูมิของน้ำไม่ให้ เดือด (จุดเดือดของน้ำคือ 100องศาเซลเซียส) เพราะถ้าน้ำในระบบ เกิดเดือดขึ้นมาเมื่อไหร่ หมายถึงชิ้นส่วนประกอบของระบบ จะระเบิดแล้วพัง น้ำก็รั่วออกจากระบบตามไปด้วย

ทีนี้ หน้าที่ ของฝาหม้อน้ำก็คือ กักแรงดันเอาไว้ เพื่อไม่ให้ น้ำถึงจุดเดือด ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ ถ้าเราต้มน้ำในกา จะเห็นว่าภายในกาต้มน้ำ จะเกิดแรงดัน ยิ่งร้อนมากเท่าไหร่ แรงดันยิ่งมาเท่านั้น ฝาของกาต้มน้ำ จึงมี รู ระบายแรงดันเอาไว้ เพราะแรงดันภายในก็พยายามจะเอาชนะ หรือหาทางออกให้ได้ ถ้าไม่มีทางออก ก็ต้องดันฝาให้กระเด้งออก แต่ถ้ากดปิดฝาเอาไว้ แรงดันที่มากพอก็อาจทำให้ กาต้มน้ำ ระเบิดปริออกก็ได้

ย้อนภาพกลับมาที่หม้อน้ำในรถยนต์ การที่น้ำร้อนมากๆ จึงเกิดแรงดันภายใน การกักเก็บแรงดันภายใน เป็นการป้องกันน้ำถึงจุดเดือดอีกวิธีหนึ่ง นอกเหนือจากการใช้ น้ำยาหล่อเย็น เพื่อให้น้ำถึงจุดเดือดยากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เมื่อแรงดัน ถึงจุดจุดหนึ่ง ย่อมต้องได้รับการ ระบาย ออก เพื่อไม่ให้ทำความเสียหายกับชิ้นส่วนของระบบเช่น หม้อน้ำ ท่อยาง และอื่นๆ

นี่เองจึงเป็นที่มาของ ตัวเลข บนฝาหม้อน้ำ ซึ่งจะมีตัวเลขกำกับเช่น 0.9, 1.1 หรือ 1.3 บ้าง หรือมากกว่านี้ นั่นก็คือ ตัวเลขที่บ่งชี้ว่า ฝาหม้อน้ำนั้นๆ ทนแรงดันได้เท่าไหร่ โดยมีหน่วยเป็น บาร์ สมมติว่า ถ้าเดิมๆ เราใช้ฝาหม้อน้ำที่ผู้ผลิตรถยนต์ให้มา 0.9 บาร์ เมื่อแรงดันในหม้อน้ำเริ่มถึง 0.9 บาร์ ความแข็งของสปริงที่ฝานั้น จะถูกแรงดันเอาชนะ และเป็นช่องทางให้แรงดันได้ไหลออก ซึ่งอาจจะมีน้ำบ้างบางส่วนไหลออกจาก ฝา แล้วไปยังหม้อพักน้ำอีกที

ฉะนั้น ตัวเลข ที่กำกับบน ฝาหม้อน้ำ ก็คือ ความแข็งของสปริงของฝาหม้อน้ำนั้นๆ ว่า รับแรงดัน ได้เท่าไหร่ ยิ่งตัวเลขมาก แรงดันก็จะเยอะ จนกว่าจะถึงจุดที่ต้องระบายแรงดันทิ้ง

แล้วถ้ารถเราใช้ฝา 0.9 บาร์มาตั้งแต่ไหนแต่ไร จนวันนึงฝาเริ่มเสื่อมสภาพ ยางเริ่มแข็ง สปริงเริ่มล้า เราจะเปลี่ยนไปใช้ฝาที่รับแรงดันมากกว่านี้ได้ไหม เพราะเลขมากมันดูเท่ดี เห็นรถสวยๆ ซิ่งๆ เขาใช้กัน

ตอบอย่างนี้ก็แล้วกัน รถบ้านๆ ที่ค่ายรถเค้าออกแบบชิ้นส่วนประกอบของ ระบบหล่อเย็น มาให้ใช้กับฝาแรงดันขนาดอะไร เมื่อต้องเปลี่ยน ก็เปลี่ยนไปใช้ขนาดเท่าเดิมนั่นแหละ เพราะถ้าไม่ได้โมดิฟายระบบหล่อเย็นใหม่ ความคงทนของชิ้นส่วนระบบหล่อเย็นจะสามารถทนแรงดันได้ตามที่วิศวกรเค้ากำหนดมา ถ้าเปลี่ยนให้ยิ่งรับแรงดันได้มาก ชิ้นส่วนอาจจะเกิดความร้อนจัดบ่อยๆ นานๆ อายุการใช้งานจะสั้นลง หรือไม่ก็ทนแรงดันไม่ไหว ตามตัวอย่างที่เปรียบเทียบจาก กาต้มน้ำ ในย่อหน้าข้างบนไปก่อนนี้

แท็กฮิต : ,