รีวิว : NISSAN Almera ( นิสสัน อัลเมร่า ) แบบของ One Day Trip โดยใช้เส้นทางกรุงเทพฯ – อัมพวา

    รอมานานมากครับสำหรับ NISSAN Almera ( นิสสัน อัลเมร่า ) กว่าจะได้ทำการทดสอบและสัมผัสกัน ด้วยสถานการณ์น้ำท่วมจึงต้องมีการเลื่อนออกไป แต่ในที่สุด บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ก็ตัดสินใจจัดทริปเล็กๆ ให้สื่อมวลชนในรูปแบบของ One Day Trip โดยใช้เส้นทางกรุงเทพฯ – อัมพวา

NISSAN Almera

การทดสอบครั้งนี้เริ่มต้นกันเช้าตรู่ ณ ใจกลางเมืองย่านสยาม โดยมีคุณ ชนกนันท์ เตชะภัทรพร ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด มาต้อนรับด้วยตัวเอง ก่อนออกเดินทางเราได้ฟังบรรยายถึงตัวรถทำให้เราได้ทราบว่า Almera มีข้อดีที่ต้องลองพิสูจน์อยู่หลายจุด

 

Idling Stop System

ได้เวลาเดินทางการทดสอบในช่วงแรกแล้ว การทดสอบเริ่มตั้งแต่การใช้งานในเมือง ในเรื่องการคล่องตัว กับเรื่องความประหยัดน้ำมันหายห่วงครับ เพราะเค้าออกแบบมาเพื่อสิ่งนี้อยู่แล้ว แต่ที่เหนือขึ้นไปอีกคือระบบ “Idling Stop System” ขออธิบายง่ายๆ นะครับ คือ ระบบดับเครื่องยนต์และระบบสตาร์ทเครื่องยนต์จะทำงานเองอัตโนมัติเพื่อช่วยให้ประหยัดเชื้อเพลิงมากขึ้นไปอีกในเวลารถติด ซึ่งมีในเฉพาะเกียร์ CVT โดยการใช้งานก็ง่ายๆ เริ่มจากสามารถเปิด – ปิดระบบนี้ที่ด้านขวามือของคนขับ เมื่อความเร็วของรถเกิน 20 กม./ชม. ระบบจะเริ่มทำงาน ผมของยกตัวอย่างในสถานการณ์จริงจะได้เข้าใจง่ายๆ นะครับ ถ้าเราขับรถมาเรื่อยๆ เมื่อเจอไฟแดงเราเหยียบเบรกหยุดนิ่ง เพื่อรอไฟเขียว เครื่องยนต์รถก็จะดับลง แต่ระบบแอร์ วิทยุ อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ยังทำงานอยู่ พอไฟเขียวเปลี่ยนจากเบรกมาเหยียบคันเร่งเครื่องยนต์ก็จะติดเอง พร้อมเดินทางต่อ (ถ้ายังมองภาพไม่ออกลองดูรถตุ๊กตุ๊กเวลาเค้าติดไฟแดง ขับมารถติดบิดกุญแจดับเครื่อง รถเคลื่อนที่ได้สตาร์ทใหม่ไปต่อ มันลักษณะคล้ายๆ กัน เพียงแต่ Almera เป็นแบบอัตโนมัติ) แต่ก็มีหลายเงื่องไขที่เครื่องยนต์จะติดก่อนเวลา เช่น แบตเตอรี่ไฟไม่พอ, อุณหภูมิน้ำหล่อเย็น อุณหภูมิน้ำมันเกียร์ อุณหภูมิอากาศ ไม่อยู่ในอุณหภูมิที่กำหนด เป็นต้น

 

เครื่องยนต์

ทริปนี้เราออกไปหาถนนโล่ง เพื่อมุ่งหน้าไป “อัมพวา” เครื่องยนต์ HR12DE 3 สูบ 1.2 ลิตร 79 แรงม้า พร้อมระบบขับเคลื่อน เกียร์ Xtronic CVT  ด้วยตัวรถที่ดูใหญ่ซึ่งเป็นการนำบอดี้ NISSAN SUNNY 2012 ที่มีเครื่องยนต์ 1.5 ลิตรนำมาปรับใส่เครื่องยนต์ 1.2 ลิตรเพื่อให้ตรงคอนเซ็ปท์ ECO CAR เพื่อขายในเมืองไทย จึงทำให้เรารู้สึกว่ารถต้องอืดมากแน่ๆ แต่พอได้ทดสอบขับ ไม่ได้เป็นอย่างที่คิดเลย เพราะน่าจะมีการปรับในส่วนการสั่งงานของระบบเกียร์ใหม่ให้เหมาะกับน้ำหนักตัวรถ ทางการทดสอบการออกตัว ความเร็วในช่วง 0-100 กม./ชม. ที่เหมาะกับการใช้งานในเมืองทำได้ดีมากๆ ในช่วงของการเดินทางไกลในช่วงความเร็ว 100-140 กม./ชม. ก็ยังใช้เดินทางได้ดีไม่มีอาการของเครื่องยนต์ และยังสามารถทำความเร็วปลายได้ถึง 170 กม./ชม. ในเรื่องของการเดินทางไกลเรื่องนี้ต้องขอบอกว่าสบายๆ ครับจะไปเหนือสุด ใต้สุดของไทยไม่ใช่ปัญหา

 

แต่ที่ต้องระวังสักนิดคงเป็นการเดินทางขึ้นเขาแบบ 2 เลน เพราะถ้ามีการแซงในทางขึ้นเขา เราจะต้องระวังสักนิดเพราะกำลังของเครื่องยนต์อาจจะไม่สามารถแซงได้ดั่งใจ แต่ถ้านำมาใช้งานตามคอนเซ็ปท์ของรถที่ออกแบบมา Almera มีกำลังให้ใช้เหลือเฟื้อ เรื่องของอัตราการประหยัดน้ำมันเรื่องนี้ผมขอติดไว้ก่อนครับ เดี๋ยวขอยืมทดสอบแบบเดียวจะจับอัตราการบริโภคน้ำมันให้แน่นอนอีกสักครั้ง แล้วจะรายงานให้ทราบ

 

ภายใน

ผมขยับมาเป็นผู้โดยสารบ้าง ทัศนวิสัยดี ถือว่าเป็นรถที่ขับง่ายเหมาะที่จะเป็นรถคันแรกของผู้ที่พึ่งเริ่มขับรถ ภายในกว้างขวางมากเรียกได้ว่าจะกว้างกว่ารถ 1.5 ลิตรในตลาดเมืองไทยอีก การออกแบบคอนโซลต่างๆ สวยงามวัสดุที่ใช้ถือว่าอยู่ในระดับที่ดี ในส่วนนี้ ผมประทับใจครับ

 

   สุดท้ายต้องขอบคุณ บริษัท นิสสัน มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ให้เราได้สัมผัสกับ   นวตกรรมดีๆ อีกครั้ง สำหรับ NISSAN Almera ถ้าเทียบราคากับสิ่งที่ผู้บริโภคได้รับคุ้มค่ามากครับ ราคานี้ยังไม่รวมลดภาษีโครงการรถคันแรกอีกซึ่งลดถึง 60,000 – 84,000 บาท (แล้วแต่รุ่น) ทำให้ตัวรถประหยัดลงไปอีก Almera เหมาะกับคุณหรือไม่ลองไปชมด้วยตัวเองได้ ทุกโชว์รูม  NISSAN ทั่วประเทศ