มาสด้าพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเต็มรูปแบบสำหรับกันชนรถเป็นครั้งแรกของโลก

มาสด้าพัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเต็มรูปแบบสำหรับกันชนรถเป็นครั้งแรกของโลก

       มาสด้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น พัฒนาเทคโนโลยีรีไซเคิลเต็มรูปแบบสำเร็จเป็นครั้งแรกในโลกซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในกระบวนการรีไซเคิลชิ้นส่วนกันชนรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว เพื่อนำไปหมุนเวียนเป็นพลาสติกเรซินสำหรับใช้ผลิตกันชนรถใหม่ นับเป็นเทคโนโลยีแรกของโลกที่สามารถรีไซเคิลกันชนรถที่หมดสภาพของรถยนต์ต่างยี่ห้อกันได้พร้อมๆ กัน นอกจากนั้น ด้วยขั้นตอนใหม่ที่สามารถแยกชิ้นส่วนโลหะอัตโนมัติ จึงช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการรีไซเคิลได้ดียิ่งขึ้น
มาสด้าก้าวสู่การเป็นผู้นำในการรีไซเคิลกันชน ด้วยการคิดค้นขั้นตอนแยกกันชนใช้แล้วจากรถยนต์ที่หมดอายุการใช้งาน ซึ่งเก็บรวบรวมมาจากเครือข่ายผู้จัดจำหน่ายในญี่ปุ่น โดยเทคโนโลยีใหม่นี้สามารถรีไซเคิลกันชนของรถยนต์ทุกชนิด ทุกยี่ห้อ จึงเป็นการช่วยลดขั้นตอนการแยกเก็บสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์ที่ต่างยี่ห้อกันได้ และยังสามารถเชื่อมโยงขั้นตอนรีไซเคิลทั้งหมดเข้าด้วยกันอย่างเต็มรูปแบบ ตั้งแต่การกดอัดกันชนใช้แล้ว จนถึงการผลิตวัตถุดิบสำหรับนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งนับเป็นนวัตกรรมที่สะท้อนถึงความก้าวหน้าอีกขั้นที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์
       ปัจจุบัน การแยกชิ้นส่วนโลหะ และชิ้นส่วนที่ไม่ต้องการอื่น ๆ ออกจากกันชนรถยนต์ใช้แล้ว ตลอดจนการตรวจสอบสภาพกันชนก่อนนำไปรีไซเคิลยังเป็นขั้นตอนที่ต้องทำด้วยคน ซึ่งนับเป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองแรงงานและเป็นอุปสรรคซึ่งลดทอนประสิทธิภาพของระบบรีไซเคิล ด้วยเหตุนี้ มาสด้าจึงได้จับมือกับซาตาเกะ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นบริษัทในฮิโรชิม่า เพื่อร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ขึ้นเพื่อการรีไซเคิลกันชนรถยนต์อย่างเต็มรูปแบบ โดยในระบบใหม่นี้ ทันทีที่กันชนใช้แล้วถูกนำไปบดอัดเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เครื่องยนต์ที่มีลักษณะการทำงานเหมือนกับเครื่องคัดแยกเมล็ดข้าวจะทำหน้าที่คัดแยกชิ้นส่วนโลหะที่ไม่ต้องการออกโดยการเขย่า และพ่นลมเข้าไปในชิ้นส่วนกันชน เพื่อแยกส่วนประกอบที่ไม่ต้องการออกมาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยกระบวนการใหม่นี้ของมาสด้า
       เทคโนโลยีใหม่ของมาสด้ายังช่วยแก้ปัญหาข้อจำกัดของวิธีการเก่าๆ ในการรีไซเคิลกันชนรถยนต์อีกด้วย เนื่องจากที่ผ่านมา กันชนรถใช้แล้วที่นำมารีไซเคิลมีความหลากหลายแตกต่างกันไป ทั้งในด้านส่วนประกอบของพลาสติก  โพลีโพรพีลีนที่นำมาใช้และคุณสมบัติการยึดเกาะของสีพ่น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตรถยนต์แต่ละราย และอายุการใช้งานของรถ จึงทำให้ระบบการรีไซเคิลต้องใช้ขั้นตอนที่แตกต่างกันไปตามลักษณะและสภาพของกันชนรถ ทว่าเทคโนโลยีใหม่ของมาสด้า สามารถใช้ในการรีไซเคิลกันชนทุกรุ่นทุกแบบพร้อมๆ กันได้  ด้วยขั้นตอนใหม่ซึ่งใช้เครื่องจักรที่มีลักษณะเหมือนเครื่องบดนวดที่ใช้ในโรงงานผลิตอาหารและสารเคมี ซึ่งทำงานโดยอาศัยแรงเฉือนที่ทรงพลัง จึงสามารถขัดสีพ่นออกจากชิ้นส่วนกันชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ว่าจะเป็นกันชนที่ผลิตจากพลาสติกชนิดใด หรือใช้สีพ่นที่มีคุณสมบัติแบบใด โดยไม่จำเป็นต้องใช้ความร้อน และในอนาคต มาสด้าจะยังคงมุ่งหน้าพัฒนานวัตกรรมเทคโนโลยีรีไซเคิลใหม่ๆ รวมไปถึงระบบการรีไซเคิลแบบ Bumper-to-Bumper ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของวิสัยทัศน์ในการก้าวสู่อนาคตตามแบบฉบับ ซูม-ซูม แบบยั่งยืน (Sustainable Zoom-Zoom)
ค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อมของมาสด้าได้ที่
www.mazda.com/mazdaspirit/env/

พัฒนาการเทคโนโลยีรีไซเคิลกันชนรถยนต์ของมาสด้า
2535 เริ่มเก็บรวมรวมชิ้นส่วนกันชนรถที่เสื่อมสภาพจากศูนย์บริการต่างๆ และนำไปรีไซเคิลเพื่อใช้ผลิตเป็นแผ่นปิดใต้ท้องรถ
2544 เริ่มใช้เทคโนโลยีระบบกะเทาะสีออกจากกันชนรถอย่างจริงจัง ซึ่งช่วยให้พลาสติกรีไซเคิลมีความ    แข็งแกร่งเหมือนกับพลาสติกใหม่  และเริ่มใช้พลาสติกรีไซเคิลเป็นวัสดุเสริมความแกร่งให้กับกันชนรถใหม่
2545 พัฒนาขั้นตอนการกะเทาะสีกันชนให้สามารถขจัดสีพ่นออกจากกันชนได้ถึง 98 – 99% และเริ่มใช้เรซิน
 รีไซเคิลในการผลิตกันชนใหม่สำหรับรถมาสด้า เอ็มพีวี ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2546
2546 พัฒนาระบบกลไกคัดแยกชิ้นส่วนกันชน และเทคโนโลยีกะเทาะสีพ่นใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับ ซาตาเกะ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งสามารถขจัดสีพ่นออกจากกันชนรถได้ถึง 99.9% ส่งผลให้พลาสติกรีไซเคิลที่ได้ มีคุณภาพและความแข็งที่เพียงพอสำหรับใช้ผลิตกันชนรถใหม่ได้
2548 ริเริ่มขั้นตอนการรีไซเคิลกันชนรถอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาใช้เป็นวัสดุในการผลิตเป็นกันชนรถใหม่


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |