มูลนิธิโตโยต้าฯ เตรียมรับ AEC

toyota

จัดสัมมนาวิชาการ “อาเซียนศึกษา” 

นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย พร้อมคณะผู้บริหารบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ ร่วมเปิดงานสัมมนาวิชาการประจำปี พ.ศ.2555 ในหัวข้อ “อาเซียนศึกษา” พร้อมปาฐกถาพิเศษโดย ฯพณฯ พิษณุ สุวรรณะชฎ เอกอัครราชฑูตไทย ณ กรุงย่างกุ้ง เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม ศกนี้ ณ หอประชุมใหญ่ ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ตลิ่งชัน กรุงเทพฯ

บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ร่วมกับ มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย และมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จัดงานสัมมนาประจำปี ด้วยเล็งเห็นถึงความสำคัญของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน (ASEAN) ในช่วงเวลาที่ผ่านมา องค์กรแห่งนี้ผ่านประสบการณ์ต่างๆมากมาย ได้เรียนรู้และปรับตัวตามสภาพเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยภายในภูมิภาค และกระแสโลกภายนอก ส่งผลให้องค์กรแห่งนี้ ต้องวางยุทธศาสตร์และดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์สูงสุดของประชากรในภูมิภาค โดยการสัมมนาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า และเผยแพร่ข้อมูล องค์ความรู้เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน ในมิติต่าง ๆ ทั้งทางด้านประวัติศาสตร์ สังคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
กระตุ้นให้มีการนำเอาความรู้และความเข้าใจที่ได้ ไปปรับให้เอื้อต่อการสร้างความเข้าใจอันดีระหว่างประเทศไทยกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน
มุ่งสร้างคุณค่า องค์ความรู้ และความเข้าใจในประชาคมอาเซียน
นายประมนต์ สุธีวงศ์ กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กล่าวว่า “งานสัมมนาวิชาการเป็นหนึ่งในกิจกรรมหลักที่มูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย ร่วมกับ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาการวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรม เพื่อขยายพรมแดนความรู้ และสร้างกระบวนทัศน์ใหม่ทางการศึกษา พัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพ เป็นสังคมที่อุดมไปด้วยปัญญา พร้อมทั้งส่งเสริมให้นำความรู้ไปปรับใช้กับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ซึ่งเป็นจุดมุ่งหมายหลักของมูลนิธิโตโยต้าฯ ที่ให้ความสำคัญทางด้านการศึกษา พัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อตอบแทนสังคมไทย”

หัวข้อหลักของการอภิปรายในครั้งนี้ได้แก่ “ประชาคมอาเซียน 2015: การเมือง เศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม” โดยวิทยากรผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธ์ นายกสมาคมอาเซียนแห่งประเทศไทย รองประธานสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ ฝ่ายบริหาร นายนินนาท ไชยธีรภิญโญ รองประธานกรรมการ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักวิชาการกลุ่มสันติประชาธรรม นางสาวบุษฏี สันติพิทักษ์ รองอธิบดีกรมอาเซียน ผศ.ดร.กิตติ ประเสริฐสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และผู้ประสานงานโครงการ ASEAN Watch โดยมี นายอดิศักดิ์ ศรีสม เป็นผู้ดำเนินรายการ
นอกจากนี้ยังมีหัวข้อการสัมมนาที่น่าสนใจอีกมากมาย อาทิ
“ภาษากับอาเซียน”
“เขตแดนทางบก – ทางทะเลของไทยกับเพื่อนบ้านอาเซียน”
“การแพทย์ไทยในบริบทอาเซียน”
“สื่อสารมวลชนในอาเซียน”
“สถานะและสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในอาเซียน”
“อาเซียนกับเยาวชนคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ (?)”

ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ กรรมการมูลนิธิโตโยต้าประเทศไทย กรรมการและเลขานุการ มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “เป้าหมายการรวมเป็นประชาคมอาเซียน หรือ ASEAN Community ในพ.ศ.2558 (2015) นับเป็นหมุดหมายสำคัญที่บ่งชี้ว่า อาเซียนได้เดินทางมายังจุดพัฒนาการที่มีความหมายอย่างยิ่ง การรวมเป็นประชาคมครั้งนี้ จะกระชับความสัมพันธ์ในทุกๆ ด้านของประชากรในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่จะเป็นแนวหน้าของการสร้างประชาคมอาเซียน เติมเต็มด้วยการรวมกลุ่มทางการเมืองและความมั่นคงในอาเซียน รวมถึงกลุ่มสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งถือเป็นสามเสาหลักของการสร้างประชาคมอาเซียนที่จะเริ่มในพ.ศ.2558 (2015) ให้เข้มแข็ง”

ศ.(พิเศษ) ดร.ชาญวิทย์ กล่าวต่อไปว่า “อย่างไรก็ดี องค์ความรู้และความเข้าใจในประชาคมอาเซียนในระดับความรู้สาธารณะ ยังดูเหมือนจะไม่ชัดเจนมากนัก อะไรเป็นประโยชน์แท้จริงที่ประชาชนส่วนใหญ่พึงได้รับ ประชาคมแห่งนี้มีคุณค่าและความหมายอย่างไรกับคนส่วนใหญ่ อะไร คือประโยชน์ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างแท้จริง แล้วประชาชนจะต้องปรับตัวอย่างไร คำถามเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ท้าท้าย สำหรับเหล่านักวิชาการและภาคส่วนที่ทำหน้าที่ในการสร้างองค์ความรู้สาธารณะเรื่องประชาคมอาเซียน ซึ่งจำต้องร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อหาคำตอบ”

คุณหญิงลักษณาจันทร เลาหพันธ์ นายกสมาคมอาเซียนแห่งประเทศไทย กล่าวถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้
เกิดความเคลื่อนไหวและตื่นตัวในวงวิชาการ ในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไทย กับประเทศเพื่อนบ้านในประชาคมอาเซียน
เกิดการสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ต่างๆ เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน เพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
เกิดการต่อยอดให้มีมุมมองประเด็นปัญหาใหม่ๆ เกี่ยวกับประชาคมอาเซียน

และนี่คืออีกหนึ่งความตั้งใจของโตโยต้า ในการมุ่งสนับสนุนและส่งเสริมทางด้านการศึกษาและวัฒนธรรมมาอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลากว่า 50 ปี สมดังปณิธานที่ว่า…

“อนาคตสังคมไทย ความภูมิใจของเรา”
 


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |