วอลโว่จัดสัมมนา พร้อมเผยเส้นทางสู่เป้าหมายความปลอดภัยปี 2020

เมื่อเร็ว ๆ นี้ วอลโว่ได้จัดสัมมนาความปลอดภัยบนท้องถนน Volvo’s Road towards 2020 โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความปลอดภัยจากสวีเดน และประเทศไทยเข้าร่วมนำเสนอข้อมูล โดยวอลโว่ได้เน้นถึงเป้าหมายไปสู่วิสัยทัศน์ปี 2020 ในการพัฒนาเทคโนโลยี ที่ทำให้ไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสในรถยนต์วอลโว่รุ่นใหม่นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2020 เป็นต้นไป ส่วนผู้เชี่ยวชาญอีกสองท่านให้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์อุบัติเหตุล่าสุดในประเทศไทย (ในภาพจากซ้ายไปขวา)  : นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ รศ. ดร. กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ดร. ล็อตต้า ยาค็อบสัน หัวหน้าทีมอาวุโสด้านเทคนิค แผนกป้องกันการบาดเจ็บ จากศูนย์ความปลอดภัยวอลโว่ ประเทศสวีเดน คุณคณิตพงศ์ นุตสถิตย์ ผู้ช่วยรองประธานบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท วอลโว่ คาร์ (ประเทศไทย) และคุณ โอ อนุชิต สพันธุ์พงษ์

 

“เพราะรถถูกขับเคลื่อนโดยคน เบื้องหลังทุกสิ่งที่วอลโว่ทำ ทั้งที่ผ่านมาในอดีตและในอนาคต คือ หลักการความปลอดภัย”

 

นับตั้งแต่ผู้ก่อตั้งวอลโว่ มร. อัสซาร์ กาเบรียลสัน และ มร. กุสตาฟ ลาร์สัน กล่าวประโยคข้างต้นไว้เมื่อมีการก่อตั้งบริษัท มาจนถึง 88 ปีให้หลัง ทุก ๆ คำพูดถูกถ่ายทอดเป็นการกระทำอย่างชัดเจน จากพันธะสัญญาแรกเริ่มที่ให้ความสำคัญกับทุกชีวิต ไม่ว่าจะเป็น ผู้ขับขี่ ผู้โดยสาร หรือผู้ร่วมใช้ถนน ปัจจุบันวอลโว่ยังคงความเป็นแบรนด์ต้นแบบด้านความปลอดภัย ด้วยเทคโนโลยีในรถรุ่นต่างๆ ที่ถูกพัฒนาให้ดีขึ้นเป็นลำดับ
 

ปณิธานสูงสุดของวอลโว่ คือการผลิตรถอัจฉริยะที่ไม่เกิดการเฉี่ยวชนใดๆ แต่สำหรับอนาคตอันใกล้ วอลโว่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าในปีค.ศ. 2020 จะต้องไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บสาหัสในรถวอลโว่รุ่นใหม่
 

แม้จะเป็นเป้าหมายที่เป็นสิ่งที่บรรลุได้ยากยิ่ง แต่วอลโว่ก็ได้เตรียมเส้นทางและกระบวนการไปสู่จุดนั้น การศึกษาข้อมูลการจราจรและการวิจัยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง รวมทั้งพฤติกรรมการขับขี่ ช่วยให้สามารถออกแบบรถที่ปลอดภัย แม้เมื่อเกิดการชนที่รุนแรง นอกจากนี้ยังมีทั้งระบบความปลอดภัยและระบบช่วยการขับขี่ ที่ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุและลดทอนความเสียหายและการบาดเจ็บ เมื่อไม่สามารถหลีกเลี่ยงการชนได้

ดร. ล็อตต้า ยาค็อบสัน หัวหน้าทีมอาวุโสด้านเทคนิค แผนกป้องกันการบาดเจ็บ จากศูนย์ความปลอดภัยวอลโว่ ประเทศสวีเดน ได้นำเสนอข้อมูลที่น่าสนใจ เกี่ยวกับประวัติและวิวัฒนาการเกี่ยวกับความปลอดภัยในรถยนต์วอลโว่ และอุปกรณ์ความปลอดภัยหลากหลายรายการที่วอลโว่คิดค้นขึ้นเป็นรายแรกในโลก ซึ่งในจำนวนนี้ สิ่งที่มีชื่อเสียงมากที่สุด คือการคิดค้นเข็มขัดนิรภัยแบบ 3 จุด ซึ่งช่วยรักษาชีวิตคนหลายล้านคนมาแล้วทั่วโลก

นอกจากนี้ ดร. ล็อตต้ายังได้แนะนำ “IntelliSafe” ซึ่งเป็นชุดของนวัตกรรมอันชาญฉลาด เช่น Park Assist ระบบช่วยจอดขนานขอบทางอัตโนมัติ City Safety ซึ่งช่วยป้องกันการชนขณะขับความเร็วต่ำสำหรับรถ จักรยาน และคนเดินถนน Adaptive Cruise Control with Queue Assist ช่วยประมาณการทิ้งระยะห่างจากรถคันหน้าอยย่างปลอดภัย และในการจราจรที่เคลื่อนตัวช้ามีฟังก์ชั่นหยุดรถและออกตัวอัตโนมัติ ด้วยความเร็วที่พอดีกับรถคันหน้า จึงขับสบายแม้ในยามรถติด Collision Warning ระบบเตือนป้องกันการชนและช่วยเบรคอัตโนมัติสำหรับคนเดินถนน รถจักรยาน หรือแม้แต่รถคันอื่นที่กำลังเข้ามาในทางของวอลโว่ และLane Keeping Aid ระบบแจ้งเตือนเมื่อรถเริ่มวิ่งออกนอกเส้นแบ่งช่องทางเดินรถ

สำหรับรถวอลโว่ในประเทศไทย ในปีหน้าเมื่อรถวอลโว่ XC90 ใหม่ มาถึงประเทศไทย จะเป็นการยกระดับความปลอดภัยสู่มาตรฐานที่สูงขึ้นไปอีก เช่น เข็มขัดนิรภัยที่นั่งคู่หน้าและแถวที่สองจะปรับได้หลายระดับเพื่อให้ทั้ง”ความปลอดภัยและความสบายสูงสุด” นอกจากนี้ยังมีระบบที่ปรับปรุงขึ้นสำหรับการรับแรงชนด้านหลัง และการวิ่งออกนอกช่องแบ่งจราจรที่ดีกว่าเดิม นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มระบบเบรคอัตโนมัติในสถานการณ์รถวิ่งตัดหน้าที่สี่แยก

ดร.ล็อตต้ากล่าวทิ้งท้ายว่า “นวัตกรรมและทุกสิ่งที่วอลโว่ทำ ก็เพื่อไม่ให้มีการชนเกิดขึ้น และเพื่อให้ความตั้งใจนี้ประสบความสำเร็จ วอลโว่จะดำเนินการแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ ต้องอาศัยแนวร่วม 3 ฝ่าย มาประสานความร่วมมือกัน คือ ผู้ผลิตรถยนต์แบรนด์ต่างๆ ต้องสร้างรถที่ระบบความปลอดภัย สามารถทำงานเต็มประสิทธิภาพในสถานการณ์ต่างๆ หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต้องออกกฏหมายและสร้างถนนและสาธารณูปโภคที่เกี่ยวข้องตามหลักวิชาการ และผู้ใช้รถใช้ถนนจะต้องเคารพกฏหมาย มีวินัยในการขับรถรวมทั้งช่วยดูแลชีวิตกันและกัน”

 

การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยและสร้างความตระหนักรู้

 

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอุบัติเหตุบนท้องถนนสูงเป็นอันดับต้นๆของโลก มีผู้เสียชีวิตจากการนี้ราว 20,000 คน/ปี วอลโว่มีความตระหนักในปัญหานี้ของสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ในปีพ.ศ. 2546 ได้ร่วมโครงการกับธนาคารโลกและองค์การระหว่างประเทศหลายหน่วยงานในการจัดตั้งศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย โดยได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงเป็นเวลา 3 ปีกับภาครัฐ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีและองค์ความรู้จาก Volvo Cars Safety Centre สวีเดน ให้กับศูนย์วิจัยแห่งนี้ ซึ่งจะช่วยป้อนข้อมูลที่ผ่านการวิเคราะห์สู่ผู้มีอำนาจหน้าที่ภาครัฐ ให้สามารถวางกรอบกฏหมายที่เกี่ยวข้องและวางแผนแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุดยิ่งขึ้น มาในปีนี้วอลโว่ได้จัดเวทีเชิญผู้เชี่ยวชาญของไทย มาให้ข้อมูลด้านอุบัติเหตุรถยนต์ เพื่อกระตุ้นเตือนความสำคัญเรื่องนี้แก่สังคมไทยอีกครั้ง

 

ในงานสัมมนา มีแขกรับเชิญพิเศษ 2 ท่าน คือ รศ. ดร. กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย และนายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ

รศ. ดร. กัณวีร์ กล่าวว่า”สิ่งที่พบในปัจจุบันกับเรื่องปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทย คือความรุนแรงของอุบัติเหตุที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้คนไทยเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นจำนวนมาก ความรุนแรงของอุบัติเหตุทางถนน เกิดจากปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ ประการแรก ความเร็ว (Speed) ของรถยนต์ รถกระบะ และรถโดยสารสาธารณะ ประการที่สอง การไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย (No Restraint System) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการละเลยไม่คาดเข็มขัดนิรภัย และการไม่ใช้หมวกกันน็อค และประการที่สาม การพุ่งชนวัตถุอันตรายข้างทาง (Roadside Hazards) ซึ่งเมื่อรถเสียหลักหลุดออกนอกถนน เกิดการปะทะกับเสาไฟฟ้า ต้นไม้ หลักกิโลเมตร หรือแม้แต่พลิกคว่ำ ทำให้เกิดอุบัติเหตุรุนแรงได้
ถ้าเราสามารถจัดการกับสามปัจจัยข้างต้นได้ ก็จะสามารถลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนในประเทศไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ”

นายแพทย์อนุชา เศรษฐเสถียร เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวว่า”ในสายงานทำให้ต้องเจอกับการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุหรือภัยพิบัติต่างๆ ตลอดเวลา แต่หนึ่งในสาเหตุหลักของความสูญเสียก็คือ อุบัติเหตุบนท้องถนน”

 

ตามข้อมูลสถิติ มีคนไทยที่ออกจากบ้านแล้วไม่ได้กลับไปหาครอบครัว 50 คนต่อวัน ด้วยเหตุจากเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนถนน ผู้โดยสารในรถประจำทางทั้งรถแบบทัวร์หรือรถตู้ต้องเสียชีวิตจำนวนมาก เพียงเพราะคนขับหลับในหรือเพราะอุปกรณ์เบรกมีปัญหาแม้ว่าจะเป็นสิ่งที่ป้องกันได้ ประเทศไทยยังปล่อยให้มีรถวิ่งด้วยความเร็วสูงผ่ากลางชุมชนซึ่งเหยื่อความเร็วมีทั้งผู้ใหญ่และเด็ก หนึ่งในสามของคนบาดเจ็บถูกนำส่งห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลคือคนเมาสุรา และเตียงในห้อง ICU ต้องรองรับผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์ แทนที่จะใช้ดูแลผู้ป่วยขั้นรุนแรงจากโรคต่างๆได้อย่างเต็มที่ ส่วนรถพยาบาล รถกู้ชีพ ก็เป็นส่วนหนึ่งของการถูกเฉี่ยวชน โดยมีอุบัติเหตุราว 60 ครั้งต่อปี และสูญเสียบุคลากรหน่วยกู้ชีพประมาณ 20 คน/ปี ขณะปฏิบัติหน้าที่

 

ผลจากอุบัติเหตุทางถนนที่ทำให้อวัยวะได้รับบาดเจ็บถาวร หรือเกิดการทุพพลภาพ ทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่สามารถประกอบอาชีพและดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และในบางกรณีต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาจากครอบครัว ทั้งหมดนี้ก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับบุคคล ครอบครัว และสังคม

 

“ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่าอุบัติเหตุทางถนนเป็นปัญหาสำคัญ ที่ผู้ผลิตรถ ผู้ออกแบบก่อสร้างถนน ผู้คุมกฏหมาย นักการเมือง นักวิชาการ นักพัฒนาและผู้ใช้รถ ใช้ถนนในประเทศไทย จำเป็นต้องประสานความร่วมมือกัน รีบหาทางคืนความสุขบนถนนโดยด่วน ก่อนต้องโทร 1669 เรียกใช้หน่วยกู้ชีพ”นายแพทย์อนุชา เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ กล่าวทิ้งท้าย

งานสัมมนาในครั้งนี้ เป็นการยืนยันอีกครั้ง ถึงความมุ่งมั่นของวอลโว่ในการสร้างความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนสำหรับผู้ขับขี่ ผู้โดยสารและทุกชีวิตบนท้องถนน เทคโนโลยีต่างๆ ถูกคิดค้นขึ้น เพื่อให้การเดินทางสู่จุดหมายปลอดภัย ทุกสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น คือเส้นทางมุ่งสู่จุดหมาย ไม่ให้มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บร้ายแรงในรถยนต์วอลโว่รุ่นใหม่ในปี ค.ศ. 2020 


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |