เครื่องยนต์จะพังหรือไม่…หัวเทียนบอกได้

Spark-plug

ปกติหัวเทียน นั้นมีอายุการใช้งานประมาณ 100,000 กิโลเมตร แต่เราผู้ใช้รถควรทำการตรวจสอบเช็คสภาพหัวเทียนให้มีความสมบูรณ์อย่างสม่ำเสมอ  เนื่องจากการตรวจสภาพหัวเทียน สามารถบอกลักษณะการทำงานของเครื่องยนต์ได้

ตั้งแต่การบ่งชี้ว่าอัตราส่วนผสมของอากาศและน้ำมันเชื้อเพลิงสัมพันธ์กันเพียงไร อัตราส่วนผสมหนาหรืออัตราส่วนผสมบางหรือไม่ รวมถึงหัวเทียนยังสามารถบอกได้ถึงลักษณะการปรับองศาไฟจุดระเบิดว่า เครื่องยนต์นั้นๆ ปรับตั้งค่าองศาไฟจุดระเบิดอยู่ในตำแหน่งก่อนถึงศูนย์ตายบน (ไฟแก่) หรือหัวเทียนจุดระเบิดส่วนผสมไอดีหลังจากลูกสูบเลื่อนผ่านศูนย์ตายบน (ไฟอ่อน) ซึ่งสีของหัวเทียนสามารถบอกลักษณะต่างๆ ได้อย่างดี จุดนี้ถือเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่ง สำหรับการวินิจฉัยการทำงานของเครื่องยนต์ เพื่อทำการปรับแก้ไขระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกลับมาทำงานได้เต็มประสิทธิภาพ

      

ก่อนทำการถอดหัวเทียนทุกครั้ง เพื่อป้องกันความสับสนของการใส่สายหัวเทียนสลับสูบ วิธีที่ดีที่สุด คือ ควรทำสัญลักษณ์บอกตำแหน่งที่สายหัวเทียนแต่ละสูบ ซึ่งท่านผู้อ่านอาจเลือกใช้การมาร์คด้วยกระดาษกาวพันที่สาย แล้วเขียนหมายเลข กำกับก็สามารถช่วยจดจำไม่สับสน เมื่อทำการถอดหัวเทียนออกจากเบ้า  ควรทำการมาร์คระบุหัวเทียนแต่ละหัวให้ชัดเจนว่าเป็นของสูบใด ทั้งนี้เนื่องจาก การทำงานของเครื่องยนต์ในแต่ละสูบจะมีลักษณะการสึกหรอที่แตกต่างกัน ซึ่งในบางครั้งเมื่อเราทำการถอดหัวเทียน ออกจนหมดแล้วสังเกตที่สีหัวเทียน ในบางครั้งอาจพบว่าสีของหัวเทียนของแต่ละสูบนั้นแตกต่างกัน การสังเกตสีของหัวเทียน และลักษณะหัวเทียน เพื่อทำการวินิจฉัยก่อนการปรับแต่งที่เหมาะสมทำได้ดังนี้



- ถ้าหัวเทียนมีสภาพแห้ง คราบที่เกาะบริเวณเขี้ยวหัวเทียนมีสีน้ำตาลอ่อนๆ สภาพเช่นนี้ เป็นลักษณะของการเผาไหม้ ของเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์แบบ การทำงานของระบบต่างๆ ในเครื่องยนต์อยู่ในสภาพปกติ      



- ถ้าหัวเทียนมีสภาพดำแห้ง สามารถเช็ดออกได้ง่าย ลักษณะเช่นนี้บอกให้เราได้ทราบว่า ส่วนผสมของน้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราส่วนผสมที่มากกว่าอากาศ (ส่วนผสมหนา) ซึ่งคราบที่พบ คือ ส่วนที่เหลือตกค้างของละอองน้ำมันเชื้อเพลิงที่มากเกินกว่าความต้องการของเครื่องยนต์ การแก้ไขเบื้องต้น คือ ทำการปรับซ่อมของระบบการจ่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้ใหม่

 

-หัวเทียนมีสภาพชุ่มน้ำมันเครื่อง ลักษณะเช่นนี้ คือ อาการที่บ่งบอกว่าเครื่องยนต์เกิดการสึกหรอ และมีการเล็ดลอดของน้ำมันเชื้อเพลิงเข้าสู่ห้องเผาไหม้  สาเหตุอาจเกิดจากลูกสูบและแหวนลูกสูบ  เกิดการสึกหรอ กระบอกสูบ  อาจมีรอยขูดขีดที่ลึกเป็นร่องบริเวณผนังกระบอกสูบ  หรืออาจเกิดการเสื่อมสภาพของ  ซีลไกด์วาล์วบนฝาสูบ อาการเช่นนี้ ควรนำรถส่งให้ช่างทำการตรวจสอบ  และซ่อมบำรุง
 


-  หัวเทียนมีลักษณะกร่อน และไหม้ เมื่อพบหัวเทียนลักษณะเช่นนี้แสดงว่า การทำงานของเครื่องยนต์อยู่ในอุณหภูมิที่สูงเกินไป สาเหตุอาจเนื่องมาจากการเลือกใช้เบอร์ของหัวเทียนไม่เหมาะสมกับสภาพการใช้งาน  การระบายความร้อนสะสมที่เกิดขึ้นกับส่วนปลายของหัวเทียนไม่สามารถคายความร้อนออกสู่ภายนอกได้อย่างรวดเร็ว หรืออาจเกิดจาก การชิงจุดระเบิด (PRE-IGNITION) เนื่องจากเครื่องยนต์มีอุณหภูมิร้อนจัด จนส่วนปลายของเขี้ยวระอุจนเป็น สีแดงเกือบหลอมละลายนั่นเอง



- หากพบคราบเขม่าสีขาวหรือสีเหลืองจับอยู่ ลักษณะเช่นนี้บ่งชี้ให้ทราบว่า องศาการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ เกิดขึ้นภายหลังลูกสูบเลื่อนพ้นศูนย์ตายบน หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า ไฟอ่อน การแก้ไขที่ควรทำ คือ ปรับตั้งตำแหน่งองศา การจ่ายไฟของระบบจุดระเบิดใหม่ให้มีองศาไฟที่แก่ขึ้น นอกจากนี้หลังการปรับองศาการจุดระเบิดใหม่ ควรทำการเปลี่ยนหัวเทียน ใหม่ให้มีขนาดเบอร์ที่ร้อนขึ้น      

     

หลังจากที่เราทำการตรวจวิเคราะห์ และปรับแก้ไขระบบต่างๆ ให้เหมาะสม ก่อนทำการประกอบหัวเทียนกลับเข้าสู่เครื่องยนต์  ควรล้างทำความสะอาดหัวเทียนให้เรียบร้อยด้วยน้ำมันเบนซิน ควบคู่ไปกับการใช้แปรงทาสีขนาดเล็ก แปรงลวดทองเหลือง เบอร์ละเอียดแบบด้ามจับ และกระดาษทรายเบอร์ละเอียดทำความสะอาดคราบต่างๆ  ที่เกาะอยู่รอบหัวเทียนให้มีสภาพพร้อมใช้ อีกสิ่งที่ควรทำ คือ วัดค่าระยะห่างของเขี้ยวหัวเทียนทุกครั้ง เพื่อประสิทธิภาพของการเกิดประกายไฟจุดระเบิดที่ เต็มเปี่ยม โดยค่าระยะห่างเขี้ยวหัวเทียนมาตรฐานจะประมาณ 0.6-0.8 มิลลิเมตร (0.024-0.031 นิ้ว) ซึ่งการตั้งค่าระยะห่างที่แม่นยำถูกต้องควรใช้ฟิลเลอร์เกจชนิดลวดกลม (ROUND WIRE GAGE) ครับ
 


ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |