โรคแพนิค คืออะไร???

โรคแพนิค เป็นอีกหนึ่งโรคที่ต้องได้รับการรักษาที่ถูกวิธี เป็นโรคทางจิตเวช ที่ผู้ป่วยมักจะไม่รู้ตัว พบได้บ่อยในวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ที่ย่างเข้าวัยผู้ใหญ่ตอนต้น โดยผู้หญิงจะป่วยมากกว่าผู้ชาย เราไปทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

โรคแพนิค (Panic Disoder) คืออะไร??

คือ ภาวะตื่นตระหนกต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งโดยไม่มีเหตุผลหรือหาสาเหตุไม่ได้ ซึ่งโรคนี้แตกต่างจากอาการหวาดกลัวหรือกังวลทั่วไป เนื่องจากผู้ป่วยจะเกิดอาการแพนิค (Panic Attacks) หรือหวาดกลัวอย่างรุนแรงทั้งที่ตัวเองไม่ได้เผชิญหน้าหรือตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย อาการแพนิคเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคแพนิครู้สึกกลัวและละอาย เนื่องจากไม่สามารถควบคุมตัวเองหรือดำเนินชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

อาการของโรคแพนิค

ผู้ป่วยโรคแพนิคจะรู้สึกหวาดกลัวหรือตื่นตระหนกอย่างไม่มีสาเหตุ ซึ่งเรียกว่าอาการแพนิค โดยอาการนี้จะเกิดขึ้นกะทันหัน รวมทั้งเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา แพนิคเป็นอาการที่รุนแรงกว่าความรู้สึกเครียดทั่วไป มักเกิดขึ้นเป็นเวลา 10-20 นาที บางรายอาจเกิดอาการแพนิคนานเป็นชั่วโมง โดยผู้ป่วยโรคแพนิคจะเกิดอาการ ดังนี้

  • หัวใจเต้นเร็ว
  • หายใจไม่ออก รู้สึกเหมือนขาดอากาศ
  • หวาดกลัวอย่างรุนแรงจนร่างกายขยับไม่ได้
  • เวียนศีรษะหรือรู้สึกคลื่นไส้
  • เหงื่อออกและมือเท้าสั่น
  • รู้สึกหอบและเจ็บหน้าอก
  • รู้สึกร้อนวูบวาบ หรือหนาวขึ้นมาอย่างกะทันหัน
  • เกิดอาการเหน็บคล้ายเข็มทิ่มที่นิ้วมือหรือเท้า
  • วิตกกังวลหรือหวาดกลัวว่าจะตาย รวมทั้งรู้สึกว่าไม่สามารถควบคุมสิ่งต่าง ๆ ในชีวิตได้
  • กังวลว่าจะมีเหตุการณ์อันตรายเกิดขึ้นในอนาคต
  • หวาดกลัวและพยายามหลีกเลี่ยงสถานที่หรือสถานการณ์อันตรายที่ทำให้รู้สึกหวาดกลัวในอดีต

ทั้งนี้ ผู้ที่เกิดอาการแพนิคควรพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาการแพนิคถือว่าเป็นปัญหาสุขภาพที่ร้ายแรง ผู้ที่เกิดอาการดังกล่าวจะจัดการตัวเองได้ยาก ทั้งนี้ หากไม่ได้รับการรักษาให้หาย อาการแพนิคจะแย่ลงเรื่อย ๆ

การป้องกันโรคแพนิค

                                                  ภาพจาก Mthai

โรคแพนิคเป็นปัญหาสุขภาพทางจิตที่ป้องกันให้เกิดขึ้นได้ยาก อย่างไรก็ตาม ผู้ที่เกิดอาการแพนิคหรือป่วยเป็นโรคนี้สามารถดูแลตัวเองเพื่อไม่ให้เกิดความเครียดมากขึ้น และเกิดอาการแพนิคน้อยลงได้ ดังนี้

  • งดหรือลดดื่มเครืองดื่มแอลกอฮอล์และเครื่องดื่มที่ผสมคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา โคล่า หรือช็อกโกแลต
  • ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนรับประทานยาหรือสมุนไพรรักษาอาการป่วยต่าง ๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวอาจมีส่วนประกอบที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพนิคได้
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบถ้วน
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดอาการง่วงเซื่องซึมระหว่างวัน
  • เข้ารับการรักษาจากแพทย์อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งฝึกรับมือกับความเครียด เช่น ฝึกหายใจลึก ๆ หรือเล่นโยคะ เพื่อให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้น
  • ฝึกคิดหรือมองโลกในแง่บวก ลองนึกถึงสถานที่หรือเหตุการณ์ที่ทำให้จิตใจสงบหรือผ่อนคลาย และเพ่งความสนใจไปที่ความคิดดังกล่าว วิธีนี้จะช่วยลดความฟุ้งซ่านและอาการวิตกกังวลต่าง ๆ ของผู้ป่วย รวมทั้งช่วยปรับความคิดของผู้ป่วยที่มีต่อตนเองและสิ่งรอบข้างให้ดีขึ้น
  • ควรยอมรับว่าตัวเองรับมือกับอาการแพนิคได้ยาก เนื่องจากการกดดันตัวเองและพยายามระงับอาการแพนิคนั้นจะทำให้รู้สึกแย่กว่าเดิม ทั้งนี้ ควรทำความเข้าใจว่าอาการแพนิคไม่ได้ร้ายแรงถึงชีวิต แต่เป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นและหายไปได้
  • เผชิญหน้ากับความวิตกกังวลที่เกิดขึ้น โดยลองหาสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการดังกล่าว
  • เมื่อเกิดอาการแพนิคขึ้นมา ควรพยายามตั้งสติ พุ่งความสนใจไปยังสิ่งที่ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย รวมทั้งหายใจให้ช้าลง โดยนับหนึ่งถึงสามเมื่อหายใจเข้าหรือออกแต่ละครั้ง เนื่องจากการหายใจเร็วจะทำให้อาการแพนิคกำเริบมากขึ้น

ขอบคุณข้อมูลจาก : www.pobpad.com