มาทำความรู้จักกับโรค 4s โรคผิวหนังในเด็กกันเถอะ!

คุณพ่อคุณแม่ทราบไหมค่ะว่า “การสัมผัสตัวเด็ก” ก็เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคผิวหนัง ร้ายแรงอย่างภาวะ Staphylococcal Scalded Skin Syndrome หรือที่เรียกกันว่า โรค 4S ได้เช่นกัน วันนี้เลยจะพาไปไขข้อข้องใจกันว่า โรค 4S ที่ว่านี้คืออะไร เกิดจากสาเหตุอะไร แล้วมีวิธีรับมืออย่างไรกันค่ะ

โรค 4S คืออะไร เกิดจากอะไร ? 

ภาวะสตาฟิโลค็อกคอล สเกลด์ สกิน ซินโดรม (Staphylococcal Scalded Skin Syndrome) หรือโรค 4S คืออาการที่เกิดจากการติดเชื้อที่ชื่อว่า สตาฟิโลค็อกคอล ออเรียส (Staphylococcal aureas) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ตามผิวหนังบนร่างกายของมนุษย์ โดยปกติแล้วเชื้อตัวนี้จะไม่เป็นอันตรายใด ๆ ต่อผู้ใหญ่ที่มีภูมิคุ้มกันแข็งแรง แต่เมื่อได้เจอกับเด็กตัวเล็ก ๆ ที่ชั้นผิวหนังยังไม่เติบโตสมบูรณ์เต็มที่ มันก็พร้อมจะเล่นงานทันที ทำให้ภาวะ 4S มักพบบ่อยในทารกแรกเกิด ไปจนถึงเด็กที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบ นั่นหมายความว่า เด็กสามารถรับเชื้อสตาฟิโลค็อกคอล ออเรียส ที่มาจากบนผิวหนังของตัวเอง และรับมาจากผู้ใหญ่ที่สัมผัสตัวได้เช่นกัน


อาการของโรค 4S 

เชื้อสตาฟิโลค็อกคอล ออเรียส จะแทรกซึมเข้าร่างกายผ่านทางสะดือ เยื่อบุตา จมูก ช่องหู ช่องคอ หรือบาดแผล แล้วปล่อยสารพิษสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการอักเสบ มีรอยแดง และผื่นแดง โดยเฉพาะดวงตา รอบปาก และขอบจมูก หลังจากนั้นจะเกิดตุ่มใสและผื่นแดงลุกลามไปทั่วทั้งร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาทันที เด็กจะสูญเสียเกลือแร่ตามผิวหนัง ทำให้หนังกำพร้าเริ่มแยกตัว ลอกออกมาเป็นแผ่นบาง ๆ กลายเป็นแผลแดงคล้ายถูกน้ำร้อนลวก ซึ่งอาการรุนแรงเหล่านี้ สามารถเกิดขึ้นและลุกลามได้อย่างรวดเร็ว ภายใน 24-48 ชั่วโมง
เพราะฉะนั้น หากสังเกตเห็นว่าลูกเป็นผื่นแดงไม่หาย ขนาดพาไปหาหมอกลับมาก็ยังร้องไห้ไม่หยุด ไม่ยอมให้จับตัว นอนดิ้นไปดิ้นมาอย่างทรมาน ผิวหนังเริ่มบวมเป่ง ตุ่มใสสีแดงและเหลืองขึ้นไม่หยุด รวมถึงมีไข้ร่วมด้วย คุณพ่อคุณแม่ก็ควรพาไปหาหมออีกครั้งเพื่อรับยาปฏิชีวนะทันที ไม่เช่นนั้นเด็กอาจติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงแก่ชีวิตได้

 

วิธีรับมือกับโรค 4S

แม้จะเป็นภาวะที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียที่มีวิธีรักษาให้หายโดยการให้ยาปฏิชีวนะเพียงอย่างเดียว แต่คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถป้องกันและรับมือเบื้องต้นได้ตามนี้ค่ะ

1. ให้ลูกดื่มน้ำนมแม่ เพราะน้ำนมแม่เป็นแหล่งสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีที่สุดของทารก จึงต้องมั่นใจว่าลูกได้รับน้ำนมในปริมาณที่เหมาะสมแก่ร่างกาย และคุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ครบ 5 หมู่ เพื่อเสริมสร้างให้ลูกน้อยเติบโตมาอย่างแข็งแรงอีกด้วย

2. ตัดเล็บลูกให้สั้นอยู่เสมอ เพื่อป้องกันไม่ให้เด็กวัยกำลังซนเกาตามเนื้อตัวจนเกิดบาดแผล อันเป็นช่องทางให้เชื้อเข้าสู่ในกระแสเลือดได้

3. รักษาความสะอาดให้ดี ตั้งแต่ความสะอาดของเสื้อผ้า ที่นอน ข้าวของทุกอย่างที่เด็กใช้ รวมถึงความสะอาดของคุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัว ต้องมั่นใจว่ามือของเรานั้นสะอาดเอี่ยมทุกครั้ง ก่อนไปอุ้มหรือสัมผัสโดนตัวลูกน้อย

4. หลีกเลี่ยงบริเวณแออัด โดยเฉพาะสถานที่ที่มีคนอยู่เยอะ เพราะสุ่มเสี่ยงแก่การติดเชื้อโรคต่าง ๆ ไม่เพียงแต่โรคทางผิวหนัง แต่รวมถึงเชื้อโรคอื่น ๆ ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายเด็กอีกด้วย หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ควรพกผ้าทำความสะอาด รวมถึงน้ำเกลือ และแอลกอฮอล์ติดตัวไปด้วยทุกครั้ง

5. พิถีพิถันในการเลือกผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด แนะนำให้ใช้สบู่ที่มีส่วนผสมของยาฆ่าเชื้ออยู่ด้วย แต่ต้องมั่นใจว่าเป็นสูตรอ่อนโยนต่อเด็กเล็ก หรือเป็นผลิตภัณฑ์ตามที่แพทย์แนะนำเท่านั้น

6. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด หมั่นทำความสะอาดแผลให้ลูกเป็นประจำ ให้ยาตามที่แพทย์สั่งอย่าให้ขาด และต้องพยายามให้ลูกดื่มน้ำ และน้ำนมแม่เยอะ ๆ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กลับมาแข็งแรง รวมถึงทดแทนน้ำที่เสียไปจากการติดเชื้อนั่นเอง

ขอบคุณภาพและข้อมูล : baby.kapook.com