MCV Megacity Vehicle

bmw

บีเอ็มดับเบิลยูลง 400 ล้านยูโร ขยายโรงงาน Leipzig เตรียมตัวผลิต MCV Megacity Vehicle ยานยนต์ปลอดมลพิษเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
 
มิวนิค บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป เตรียมพลิกหน้าประวัติศาสตร์โลกยานยนต์ เดินหน้าขยายโรงงานที่เมือง Leipzig เพื่อเตรียมผลิต MCV Megacity Vehicle ยานยนต์ปลอดมลพิษเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ที่วางแผนเปิดตัวในปี ค.ศ. 2013 โดยการขยายในครั้งนี้ใช้งบประมาณลงทุนประมาณ 400 ล้านยูโร เพื่อขยายโครงสร้างอาคารและซื้อเครื่องจักรผลิตสำหรับ MCV โดยมี ดร. แองเจลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี, ดร. นอร์เบิรท โรท์โธเฟอร์ ประธานบริหาร บีเอ็มดับเบิลยู เอจี, นาย สตานิสลอว์ ทิลลิค นายกเทศมนตรีแห่งแคว้นแซ็กโซนี และ นาย คริส แกร็กกอร์ นายกเทศมนตรีแห่งรัฐวอชิงตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมพิธีขยายโรงงานที่เมือง Leipzig ครั้งนี้ 
 
ดร. นอร์เบิร์ท โรท์โธเฟอร์ ประธานบริหาร บีเอ็มดับเบิลยู เอจี กล่าวว่า “นอกจากโครงการ MCV Megacity Vehicle จะแสดงถึงความมุ่งมั่นของบีเอ็มดับเบิลยูในการพัฒนายานยนต์ปลอดมลพิษเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนแล้ว ยัง
จะเป็นการปฏิวัติโลกยานยนต์ทั้งในด้านเทคโนโลยีระบบขับเคลื่อนและระบบโครงสร้างตัวถัง รวมถึงเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของโลกที่มีการผลิตโครงสร้างตัวถังด้วยวัสดุคาร์บอนในจำนวนมาก นอกจากโครงการ MCV จะมุ่งเน้นในการสร้างยานยนต์ปลอดมลพิษแล้ว เรายังให้ความสำคัญในขั้นตอนกระบวนการผลิตที่มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด เพื่อเป็นการลดการคายสารคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตด้วย โรงงาน Leipzig ซึ่งเป็นโรงงานที่ทันสมัยที่สุดและพร้อมที่สุดในการบรรลุจุดประสงค์ของเราในการลดคาร์บอนตลอด Value Chain”
 
MCV ใช้เทคโนโลยีระบบโครงสร้างตัวถัง LifeDrive ซึ่งเป็นการก้าวกระโดดของระบบโครงสร้างน้ำหนักเบา โดยการประยุกต์เทคโนโลยีคาร์บอน CFRP Carbon Fiber Reinforced Plastic ซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักถึง 250-300 กิโลกรัม เพื่อลดภาระ ‘แบกน้ำหนัก’ ของระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า ในการผลิตชิ้นส่วนคาร์บอน บีเอ็มดับเบิลยูได้ร่วมทุนกับบริษัท SGL Group ในการผลิตโครงสร้างตัวถังคาร์บอน ในขณะที่ระบบขับเคลื่อนและโครงสร้างแชสซีจะทำการผลิตจากโรงงานของบีเอ็มดับเบิลยูที่เมือง Dingolfing และระบบแบตเตอรี่จะทำการผลิตโดยพันธมิตร SB LiMotive ซึ่งเป็นการร่วมมือกับ Bosch และ Samsung 
 
 
คอนเซ็ปต์ LifeDrive
โครงสร้างตัวถังน้ำหนักเบา
 
คอนเซ็ปต์ LifeDrive จะเป็นการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีระบบโครงสร้างตัวถังน้ำหนักเบา ที่จะเข้ามาช่วยลดน้ำหนัก เพื่อให้ระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าสามารถทำงานด้วยประสิทธิภาพสูงสุด วิศวกรของบีเอ็มดับเบิลยูได้ออกแบบทั้งในส่วนของวิศวกรรมระบบโครงสร้างตัวถัง รวมถึงเทคโนโลยีและขั้นตอนการผลิต โดยใช้นวัตกรรมด้านวัสดุศาสตร์ที่ประยุกต์ใช้วัสดุคาร์บอน CFRP Carbon Fiber Reinforced Plastic ทั้งในส่วนของโครงสร้างตัวถังและห้องโดยสาร ซึ่งจะช่วยลดน้ำหนักได้ถึง 250-300 กิโลกรัม 
 
คอนเซ็ปต์โครงสร้างตัวถัง LifeDrive แบ่งระบบโครงสร้างออกเป็น 2 ส่วน: (1) ส่วน Drive Module ซึ่งจะรวมระบบแบตเตอรี่, ระบบขับเคลื่อน, ระบบโครงสร้างตัวถังนิรภัย และระบบแชสซี เข้าไว้เป็นหน่วยเดียวกัน และ (2) ส่วน Life Module ซึ่งจะเป็นส่วนของห้องโดยสารความแข็งแกร่งสูงเพื่อความปลอดภัยสูงสุดแต่มีน้ำหนักเบา ผลิตจากวัสดุ CFRP ในด้านของการออกแบบวิศวกรรมและกระบวนการผลิต คอนเซ็ปต์ LifeDrive จัดเป็นการพลิกหน้าประวัติศาสตร์ ด้วยระบบโครงสร้างตัวถังสองส่วนที่เป็นอิสระต่อกัน ทำให้มีความยืดหยุ่นสูงในแง่ของการออกแบบผลิตภัณฑ์ อีกทั้งยังใช้กระบวนการผลิตใหม่ที่เรียบง่าย ยืดหยุ่น ประหยัดพลังงาน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมกว่าขั้นตอนการผลิตรถยนต์ในปัจจุบัน 
 
 
 
 
 
 
บุกเบิกยานยนต์ปลอดมลพิษ
เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน
 
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน (Sustainability) โดยให้ความสำคัญในการลดมลพิษตลอดทั้ง Value Chain ซึ่งหมายรวมถึงขั้นตอนกระบวนการพัฒนาและการผลิตในทุกขั้นตอน ตั้งแต่อุปกรณ์ชิ้นส่วนต่างๆ ไล่เรียงไปถึงเทคโนโลยีการผลิตและการประกอบ จนไปถึงยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยระบบไฟฟ้า ซึ่งไม่มีการคายไอเสีย หรือ Zero Emission เต็มรูปแบบ 
 
ภายใต้ปรัชญา EfficientDynamics บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ยังได้เอาใจใส่ถึงขั้นตอนการผลิตแบบ Clean Production ซึ่งหมายรวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดในทุกขั้นตอนการผลิต และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของชุมชนบริเวณโรงงานด้วย ยกตัวอย่างเช่น บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ได้มีการวางเป้าหมายในการลดการใช้พลังงานที่ใช้ในการผลิตรถยนต์ลงอีก 50% และลดการใช้น้ำ 70% อีกทั้งยังได้วางเป้าหมายในระยะยาวว่า พลังงานที่ใช้ในการผลิตทั้งหมดจะมาจากแหล่งพลังงานแบบ Renewable Energy ซึ่งในวันนี้ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ก็ได้แสดงความมุ่งมั่นผ่านนโยบายและภาคปฏิบัติ ที่ได้ผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในด้านการลดมลพิษไอเสียคาร์บอนไดอ๊อกไซด์ด้วยการติดตั้งอุปกรณ์เทคโนโลยี EfficientDynamics ในรถยนต์ของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ทุกคัน และในด้านการผลิตแบบ Clean Production ในโรงงานทุกแห่งของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ทั่วโลก
 
 
โครงการ BMW ActiveE 
เรียนรู้ภาคสนามกับระบบขับเคลื่อน Electromobility 
 
BMW ActiveE ซึ่งเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สร้างอยู่บนพื้นฐานของ BMW ซีรี่ย์ 1 คูเป้ เป็นการต่อยอดการพัฒนาระบบขับเคลื่อนไฟฟ้า Electromobility ในระดับภาคสนาม โดยมุ่งเน้นการเรียนรู้พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงและการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีขับเคลื่อนไฟฟ้า โดย BMW ActiveE จะเริ่มการผลิตในระดับ Series Production จากโรงงาน Leipzig ในต้นปี 2011 (การผลิตแบบ Series Production หมายถึง การผลิตเพื่อการพาณิชย์ ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานในทุกด้าน รวมถึง มาตรฐานความปลอดภัยด้วย ซึ่งผู้บริโภคสามารถจดทะเบียนเพื่อใช้งานจริงบนท้องถนนได้)  
 
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป มุ่งมั่นในการเป็นแรงขับเคลื่อนโลกยานยนต์สู่อนาคต Future Mobility ด้วยการพัฒนาระบบขับเคลื่อนและยานยนต์ที่จะตอบสนองความต้องการด้านยานพาหนะส่วนบุคคล พร้อมกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ในขณะเดียวกันยังคงไว้ซึ่งตัวตนของความเป็นบีเอ็มดับเบิลยูในด้านของสุนทรียภาพแห่งการขับขี่ บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ปจึงได้ก่อตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาด้านระบบขับเคลื่อนไฟฟ้าและระบบโครงสร้างตัวถังพิเศษ ที่ได้รวบรวมผู้เชี่ยวชาญในแต่ละด้าน ทั้งในด้านวิศวกรรม ด้านการผลิต และด้านจัดซื้อจัดหา เพื่อที่จะสร้างนิยามใหม่ให้กับกระบวนการพัฒนาและผลิตยานยนต์แห่งอนาคต โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่ขั้นตอนการวิจัยไปจนถึงการจัดจำหน่ายถึงมือผู้ใช้

ตารางราคารถยนต์ล่าสุด

AUDI | Aston Martin | BMW | Chevrolet | CITROEN |  DFSKFerrari | Honda (ฮอนด้า) |