รีวิว : All New TOYOTA Avanza ( โตโยต้า อแวนซ่า ) Mini MPV 7 ที่นั่ง ที่ทำการปรับโฉมใหม่ ในเส้นทางกรุงเทพฯ – ราชบุรี

หลังจาก บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ส่ง Mini MPV 7 ที่นั่ง ที่ทำการปรับโฉมใหม่ภายใต้ชื่อ All New TOYOTA Avanza ( โตโยต้า อแวนซ่า ) ลงแข่งขันในท้องตลาดเมืองไทยไปได้ไม่นาน ทาง  โตโยต้า ก็จัดการทดสอบให้สื่อมวลชนได้ไปพิสูจน์ถึงสมรรถนะกันในเส้นทางกรุงเทพฯ – ราชบุรี

 

All New TOYOTA Avanza

กิจกรรมการทดสอบเริ่มต้นขึ้นตอนสายๆ ของวันพฤหัสบดี ณ โรงแรมดุสิตธานี โดยมี คุณบุญชวน วิภูษณวนิช ผู้อำนวยการฝ่ายประชาสัมพันธ์ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย มากล่าวต้อนรับและร่วมเดินทางไปด้วยในทริปนี้ แต่ก่อนจะออกเดินทางคณะสื่อมวลชนได้รับฟังบรรยายเกี่ยวกับ All New TOYOTA Avanza ( โตโยต้า อแวนซ่า ) โดยชูจุดเด่นออกมา 4 ข้อด้วยกัน คือ การออกแบบภายใน-ภายนออก แบบ Dynamic & Spacious, คงรักษาจุดแข็งของ MPV แบบ 3 แถว 7 ที่นั่ง แต่เพิ่มรูปแบบการใช้งานของเบาะ 2-3 ให้ใช้งานง่ายขึ้น, ปรับมิติตัวรถและระบบควบคุมการขับให้คล่องตัวและมีประสิทธิภาพดีขึ้น และสุดท้ายปรับสมดุลช่วงล่างให้ดีขึ้น พร้อมยกระดับเครื่องยนต์ให้ผ่านมาตราฐาน EURO 4 โดยที่สมรรถนะยังคงเดิม

 

ภายนอก

ก่อนออกเดินทางเรามาสำรวจความเปลี่ยนแปลงดีกว่า เริ่มจากภายนอกยังคงใช้พื้นฐานตัวถังเดิมปรับมุมมองด้านหน้าด้วยไฟหน้ารูปทรงคล้ายปลายของลูกธนู และกระจังหน้า พร้อมกันชนหน้าใหม่ที่ต้องบอกว่าใช้เส้นสายที่คมกริบและต่อเนื่องกันเป็นอย่างมาก ส่วนด้านท้ายปรับทุกจุด ตั้งแต่สปอยเลอร์บนหลังคา ไฟหน้าท้าย และกันชนท้าย โดยรวมผมว่าโดดเด่นที่มุมมองด้านหน้า สิ่งนี้โดดเด่นจากรุ่นเดิมอย่างชัดเจน ผมชอบในส่วนของเส้นสายของการออกแบบที่ร้อยเรียงรับกันในทุกจุดของด้านหน้า แถมยังมีในส่วนของมุมสันที่สามารถแหวกอากาศได้ดี

ภายใน

ภายในยังคงเป็นแบบ 3 แถว 7 ที่นั่งไว้ แต่ไปเน้นฟังค์ชั่นที่หลากหลายใช้งานง่ายขึ้น  เช่น เบาะแถว 2 สามารถปรับเลื่อนได้ 60 มม. พร้อมทั้งสามารถพับยกได้ในจังหวะเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าไปนั่งในเบาะแถว 3 อีกส่วน คือ มีระบบปรับอากาศด้านหลังที่แยกอิสระจากด้านหน้า ดังนั้นไม่ห่วงว่าแถว 3 จะร้อนครับ

 

GO!!! The Scenery Vintage Farm.

เมื่อทุกอย่างพร้อมเราก็ออกเดินทางกัน โดยผมใช้ All New TOYOTA Avanza 1.5 S A/T มุ่งหน้าใช้เส้นทางในเมือง เพื่อลองสมรรถนะความคล่องตัวและทัศนวิสัยที่ถือเป็นจุดชูโรงของรถรุ่นนี้ ทำการปรับคอนโซลหน้าให้ต่ำลง พร้อมทั้งเพิ่มความสูงให้กับตัวรถ เพื่อตอบโจทย์ในการลุยน้ำท่วม ซึ่งเป็นจุดขายหลักของรถยุค 2012 ในเมืองไทย โดยจุดที่ต่ำที่สุดของรถสูงจากพื้น 185 มม. ฉะนั้นเมื่อมีพื้นที่ของกระจกหน้าเพิ่ม ตัวรถสูงขึ้นทัศนวิสัยดีกว่าตัวเก่าแน่นอน บวกกับพวงมาลัยไฟฟ้า (EPS) ที่จัดมาให้ในตัวใหม่นี้ ทำให้การควบคุมรถทำได้แม่นยำและง่ายขึ้น เวลาที่เราเดินทางจึงง่ายขึ้นและคล่องตัวขึ้นมาก ตอบโจทย์ชีวิตคนเมืองได้อย่างลงตัว

 

สมรรถนะของเครื่องยนต์

พอออกนอกเมืองมาได้เล็กน้อย ผมก็ลองเรียกสมรรถนะของเครื่องยนต์รหัส 3SZ เบนซินแบบ 4 สูบ DOHC 16 วาล์ว พร้อมระบบแปรผันวาล์ว VVT-i ความจุกระบอกสูบ 1,495 ซีซี กำลังสูงสุด  101 แรงม้า ที่ 6,000 รอบต่อนาที แรงบิดสูงสุด 13.55 กก.-ม. ที่ 4,400 รอบต่อนาที รองรับแก๊สโซฮอล์ E20 และผ่านมาตรฐาน EURO4  ขับเคลื่อนล้อหลัง ด้วยระบบส่งกำลังเกียร์อัตโนมัติ 4 จังหวะ ECT จุดเด่นของเครื่องยนต์ตัวนี้แม้จะรักษาสิ่งแวดล้อมมากขึ้น แต่แรงม้าสมรรถนะยังคงเดิม จากที่ผมลองทดสอบความเร็วช่วงปลายยังทำได้ 165 กม./ชม. ความไหลลื่นของระบบส่งกำลังอันนิ่มนวลต่อเนื่อง ส่วนอัตราการบริโภคน้ำมันจุดนี้ดีกว่ารุ่นเดิม 8.26 % คือสามารถทำได้ 12.6 กม./ลิตร (อันนี้เป็นตัวเลขที่โตโยต้าแจ้งมา) ในความรู้สึกผมน่าจะประหยัดมากกว่านี้อีกสักนิด ถ้าทำได้ 14-15 กม./ลิตร จะถือว่าดีมาก แต่จะให้ทำไงได้ล่ะครับ ในเมื่อรถเค้าผลิตกันที่ประเทศอินโดนีเซียซึ่งราคาน้ำมันถูกกว่าบ้านเราเยอะ  อัตราการบริโภคน้ำมันจึงเป็นประเด็นรองในการเลือกซื้อรถของประเทศเค้า

 

ระบบช่วงล่าง

หลังจากวิ่งถนน High Way มาสักพัก เราก็เลี้ยวเข้าถนนสายรอง คราวนี้เป็นช่วงทดสอบระบบช่วงล่างที่มีการปรับตั้งค่าช็อคอัพให้การทรงตัวดีขึ้น จากที่ผมทดสอบขับตามเส้นทางโค้งหลากหลายรูปแบบ แม้จะมีการปรับตั้งช็อคอัพมาแล้ว แต่อารมณ์การขับขี่ การยึดเกาะถนนไม่ต่างจากรุ่นเดิม เหตุผลเพราะแม้จะมีการปรับมาแล้วแต่ตัวรถก็สูงขึ้นด้วยจึงไม่รู้สึกแตกต่าง

 

สุดท้ายต้องขอบคุณ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ที่ให้เกียรติ iAMCAR ได้ร่วมกิจกรรมดีๆ เช่นนี้เสมอมาครับ พบกับ ได้แล้ววันนี้ทุกโชว์รูมโตโยต้าทั่วประเทศ